นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 รายชื่อเสนอ ร่าง กม.แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 (การปกครองท้องถิ่น)เพื่อกระจายอำนาจ หรือ ปลดล็อกท้องถิ่น) ถือเป็นร่าง กม.ที่ประชาชนเสนอต่อรัฐสภา
เหตุผล การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในประเทศไทยมีความพยายาม ตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2530 และเกิดผลเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่การกระจายอำนาจยังไม่สมบูรณ์ ในตรั้งนี้จึงเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาที่ตกค้างมาอย่างน้อย 5 ประการ คือ
ประการแรก อปท. ในประเทศไทยมีอำนาจและกรอบภารกิจจำกัด ทำให้หลายปัญหาในระดับท้องถิ่นต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข
ประการที่สอง ปัญหาอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างอำนาจของราชการส่วนกลางและอำนาจของราชการส่วนภูมิภาคในทุกจังหวัด กับอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดสภาพอำนาจซ้ำซ้อน บางกรณีก็เกี่ยงกันทำ บางกรณีก็แย่งกันทำ
ประการที่สาม ปัญหาเรื่องงบประมาณและรายได้ของ อปท. ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นอยู่ที่ 35% แต่ไม่น้อยเป็นงานฝากที่ราชการส่วนกลางเอาไปให้ท้องถิ่น เช่น การจ่ายเบี้ยเงินสวัสดิการต่างๆ ส่วนท้องถิ่นจึงขาดลงทุนงบพัฒนาท้องถิ่น เช่น การลงทุนปรับปรุงน้ำประปาทั้งระบบในตำบลให้ใสสะอาทำได้ด้วยงบ 10 ล้านบาทต่อตำบล ซึ่ง อบต. ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเงินลงทุนต่อปีราว 2-3 ล้านบาท
ประการที่สี่ การกำกับดูแลของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กลายเป็นบังคับบัญชามากขึ้น มีหนังสือเวียน ระเบียบ ข้อสั่งการต่างๆ เข้าไปสั่งการท้องถิ่น แต่ควรเป็นการประสานงานร่วมมือกัน
ประการที่ห้า การมีส่วนร่วมของพลเมืองในท้องถิ่น พลเมืองจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง
ปัญหาทั้งหมดนี้ที่ได้รวบรวมสังเคราะห์จากการศึกษางานวิจัยจำนวนมาก นำไปสู่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองท้องถิ่น คือ รับรองหลักการกระจายอำนาจ กำหนดอำนาจหน้าที่แบบทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะให้ท้องถิ่น แก้ไขปัญหาเรื่องอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น
รวมถึง ยืนยันหลักการท้องถิ่น 2 ประเภท คือแบบทั่วไปกับแบบพิเศษ
การประกันเรื่องหลักการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น, ขยับสัดส่วนรายได้ส่วนกลาง-ท้องถิ่น ไปสู่ร้อยละ 50-50 พร้อมทั้งกำหนดแหล่งรายได้ใหม่ๆ
เช่น การกู้เงินและออกพันธบัตรท้องถิ่น, เพิ่มรูปแบบการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น , ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล, การกำหนดขอบเขตอำนาจกำกับดูแลของส่วนกลาง, การมีส่วนร่วมของประชาชน, กำหนดระยะเวลาการถ่ายโอนอำนาจเพื่อกำหนดสภาพบังคับ และแผนการจัดออกเสียงประชามติ เกี่ยวกับ การบริหารจัดการระบบราชการส่วนภูมิภาค
นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ว่า ปัจจุบันมีปัญหาการกระจุกตัวของงบประมาณ งบส่วนกลางมีสัดส่วน 87% ขณะที่งบประมาณท้องถิ่นมีแค่ 13% เมื่อเปรียบเทียบกรุงเทพฯมีขนาดใหญ่กว่าเทศบาลที่อยู่ในลำดับถัดไปถึง 20 เท่า ต่างจากอังกฤษหรือญี่ปุ่นที่ท้องถิ่นแตกต่างกันมากสุด 2-3 เท่า
การกระจายอำนาจ จึงเป็น การลดความเหลื่อมล้ำ คือการต่อสู้กับปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้น และเป็นการลดคอรัปชั่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้
โดยต้องยกเลิกคำสั่งและกฎหมายแช่แข็งท้องถิ่น ที่เป็นมรดกของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และจะต้องแก้ปัญหา 2 เรื่อง คือ ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น และแก้ปัญหาภาษี จากเดิมที่ส่วนกลางมีสัดส่วน 65% ท้องถิ่น 35% จะต้องแบ่งเป็น 50-50 ซึ่งจะทำให้ตอบโจทย์ปัญหาแต่ละพื้นที่ได้เร็วมากขึ้น
ทั้งนี้ ร่างกม.แก้ไขรธน.ปลดล๊อกท้องถิ่นนี้ เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมร่วมสภาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้นำเสนอร่างกม.โดยขอให้สมาชิกสภาฯ และวุฒิสภา เห็นความสำคัญของท้องถิ่นกับการพัฒนาประเทศ และขอให้รับร่างกฎหมายไปก่อน หากมีมาตราที่ไม่ถูกใจ สามารถแก้ไขรายละเอียด ในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
นายชวน ประธานรัฐสภา แจ้งต่อที่ประชุม ขอนัดประชุมรัฐสภา (ส.ส.-ส.ว.) ลงมติว่าจะรับร่างฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวหรือไม่ ในวันพุธที่ 7 ธ.ค. 65 เวลา 09.30 น.
ลำดับเวลา
เมย.๒๔๖๕ การรณรงค์ ‘ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น’ ล่ารายชื่อประชาชน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน๒๕๖๕ โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ คณะก้าวหน้า จนรวบรวมรายชื่อประชาชนได้มากกว่า 5 หมื่นรายชื่อตามที่กม.กำหนด และยื่นให้รัฐสภาพิจารณา
วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ฉบับปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อมุ่งแก้ปัญหาระบบราชการรวมศูนย์ และกระจายอำนาจคืนสู่ประชาชน เข้าสู่การประชุมร่วมของรัฐสภาคือสภาผู้แทนและวุฒิสภา
25 พฤศจิกายน พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า จัดวงพูดคุย โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล และนักวิชาการ ชำนาญ จันทร์เรือง และ วีระศักดิ์ เครือเทพ
อ้างอิง ข้อมูลการชี้แจงและนำเสนอต่อรัฐสภาของผู้แทน คณะก้าวหน้า
Kommentare