top of page
Writer's pictureclassyuth

แลนด์บริดจ์ กับ 6 มรดกโลก


ชาวชุมชนหาดเคยใกล้กับอ่าวอ่าง ประกอบอาชีพหากุ้งเคยใช้ทำกะปิ สินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดระนอง


แนวทางการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ เปิดประเด็นขัดแย้งระหว่างการพัฒนาชายฝั่งอันดามันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กับแลนด์บริจด์ที่พ่วงด้วยการพัฒนาเขตอุตสาหกรรม 


ข้อควรพิจารณาสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ในแง่ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและเศรษฐกิจการท่องเที่ยว  มีโจทย์ที่รัฐบาลต้องตอบเกี่ยวกับการพัฒนาฝั่งอันดามันอย่างน้อย 3 ประเด็น   ประเด็นแรกคือ พื้นที่มรดกโลก 6 แห่ง และ 1 พื้นที่สงวนชีวมณฑล ประเด็นที่สองว่าด้วยผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  สุดท้ายคือประเด็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน ทั้งการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประมงชายฝั่ง การหาอยู่หากิน ฯลฯ ที่ชุมชนใช้ประโยชน์อยู่เดิมจากชายฝั่งทะเลอันดามัน


ภาพรวมของพื้นที่ชายฝั่งอันดามันตอนบน จากระนอง-พังงา-ภูเก็ต เป็นพื้นที่รอขึ้นทะเบียนมรดกโลก 6 แห่ง และ 1 พื้นที่สงวนชีวมณฑล (ป่าชายเลนผืนใหญ่) ที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก ในลักษณะกลุ่มพื้นที่ต่อเนื่องของมรดกทางธรรมชาติระดับภูมิภาค (Ecoregion) ที่ไทยได้ดำเนินการมาหลายปี จนได้ขึ้นทะเบียนเบื้องต้น (world heritage tentative list) จากยูเนสโกแล้ว เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2566  แต่แล้วในเดือนตุลาคม รัฐบาลชักชวนนักลงทุนให้ลงทุนโครงการMega Project อย่างแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ซึ่งจะมีที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกแทรกเข้าไปในพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเบื้องต้น ที่จะมีทั้งการถมทะเล ขุดร่องน้ำลึกและการใช้พื้นที่ป่าชายเลนที่กำลังรอการประกาศเป็นเขตสงวนชีวมณฑลของโลก


นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติในชายฝั่งทะเลอันดามันยังมีความสำคัญ ในแง่เป็นที่มาของรายได้จากเศรษฐกิจท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน แม้กระทั่งในช่วงระบบเศรษฐกิจไทยพังทลายในปี พ.ศ.2540 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเศรษฐกิจท่องเที่ยวอันดามัน ในพื้นที่ภูเก็ต พังงา ไม่ถูกกระทบและกลับเป็นแหล่งรายได้ที่นำเงินตราต่างประเทศสู่ประเทศในเวลานั้น


รายได้จากเศรษฐกิจท่องเที่ยวต่อ GDP


ปี พ.ศ.2560 การท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้กว่า 2.75 ล้านล้านบาท  และใน ปี พ.ศ. 2561 รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาท  โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.7 ล้านคน สร้างรายได้ 2.01 ล้านล้านบาท และมีการจ้างงานในธุรกิจท่องเที่ยวถึง 4 ล้านคน   รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญของประเทศ ระดับ 10% ของGDP   ในปี พ.ศ.2562 รายได้จากการท่องเที่ยวเท่ากับ 3.01 ล้านล้านบาท คิดเป็น 17% ของ GDP  และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.7 ล้านคน ทำรายได้ 1.93 ล้านล้านบาท     


ในช่วงการระบาดของโควิด19 ระหว่าง พ.ศ. 2563-64 ส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชงักงัน หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2565-66 ภาครัฐพยายามฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  โดยวางทิศทางการตลาดระหว่างปี พ.ศ.2566 – 2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยใ นการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่า มุ่งสู่ความยั่งยืน”


ทั้งนี้เพราะ รายได้จากเศรษฐกิจท่องเที่ยวมีนัยสำคัญเป็นหัวใจที่ช่วยสูบฉีดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและการลงทุน  ดูได้จากมูลค่าการส่งออกที่ลดลง ขณะที่ปัจจัยภายในคือ การบริโภคในประเทศ กำลังซื้อของประชาชนถดถอย  และงบการลงทุนภาครัฐก็ลดลงเช่น  เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะนี้ต่อเนื่องจากปีพ.ศ.2565และยังคงมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อไปสอดคล้องกับ ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2566  ของธนาคารแห่งประเทศไทย





ในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พื้นที่ท่องเที่ยวอันดามันเป็นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่แข็งแรงและสร้างรายได้มากที่สุด ทั้งจากนักเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ 







พื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง


สำหรับท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันที่ ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง นอกจาการสร้างถนนและทางรถไฟเข้าไปพื้นที่ชุมชนและป่าชายเลนและคลองแล้ว  พื้นที่บริเวณอ่าวอ่างที่เป็นที่ตั้งท่าเรือน้ำลึก ต้องถมทะเล 6,975 ไร่ และขุดร่องน้ำลึก 19 ม.ยื่นยาวไปในทะเล 12.1 กม.  รวมทั้งเขื่อนกันคลื่น 3.1 กม. ตามรายงานการศึกษาของ สนข.  ซึ่งพื้นที่ตามโครงการนี้จะซ้อนทับกับพื้นที่ซึ่งได้รับการเสนอเป็นมรดกโลก รวมถึงพื้นที่กันชน






พื้นที่โครงการในทะเลฝั่งอันดามัน กับ 6 มรดกโลก


ท่าเรือน้ำลึกของโครงการแลนด์บริดจ์ ฝั่งอันดามัน  ตามรายงานการศึกษาของสนข.  จะซ้อนทับกับพื้นที่ซึ่งได้รับการเสนอเป็นพื้นที่มรดกโลกต่อเนื่องของนิเวศอันดามันแบบ Ecoregion  ทั้งอ้างอิงตามระบุในโครงการแลนด์บริดจ์ จะสร้างท่าเรือน้ำลึกระนอง ในวงกลมสีแดงแทรกเข้าไปในทั้งพื้นที่มรดกโลก(สีฟ้า)และพื้นที่กันชน(สีเหลือง)




ทั้งนี้ พื้นที่ Ecoregion ทั้งบนบก ชายฝั่งและพื้นที่ทะเลอันดามันต่อเนื่องกันเป็นระบบนิเวศ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลกเบื้องต้นแล้ว อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ระนอง พังงา และภูเก็ต ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง,อุทยานแห่งชาติแหลมสน,อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์,อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน,อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-ท้ายเหมือง,อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และพื้นที่ป่าชายเลนขนาดใหญ่ในระนองที่เรียกว่า เขตสงวนชีวมณฑล  รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 290,800 เฮกตาร์(ha) 1 เฮกคาร์เท่ากับ 100  เอเคอร์หรือ 10,000 ตารางเมตร


จากข้อมูลและกระบวนการการผลักดันเข้าสู่การขึ้นทะเบียนเบื้องต้นดำเนินมามาหลายปีก่อนหน้านี้ เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายในการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก  ผลได้เสียจากสถานะดังกล่าวมีน้ำหนักมากพอที่ภาคสังคม ประชาชน และโดยเฉพาะภาครัฐ จะชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อันดามันตอนบน


อีกทั้งประเด็นมูลค่าเศรษฐกิจท่องเที่ยวทั้งของภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมถึงเศรษฐกิจของชุมชนชายฝั่ง ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว ในแง่นี้จึงต้องการการศึกษาประเมินที่เป็นระบบและรอบด้านนอกเหนือจากข้อมูลตามการศึกษาของสนข. รวมถึงเปิดพื้นที่ให้กับการนำเสนอข้อมูลที่

แตกต่างในเวทีที่เป็นทางการตามกฎหมาย


 

แหล่งข้อมูล

https://whc.unesco.org/en/tentativelists/6573/ ,The Andaman Sea Nature Reserves of Thailand

https://www.bot.or.th/th/thai-economy/the-state-of-thai-economy.html  ,รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยรายปี

https://www.mots.go.th/รายงานสรุป การจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวปีพ.ศ.2563

Commentaires


bottom of page