top of page
Yuttana Varoonpitigul

20 ปี คลื่น 7 ชั้น คลื่นความรู้สู้ภัยพิบัติยุคโลกรวนทะเลร้อน

Updated: 2 days ago

ยุทธนา วรุณปิติกุล


ตอนที่ 1

20 ปีสึนามิ: ความทรงจำท้องถิ่นและความรู้ที่พาพ้นภัย


ก่อนวันที่26ธค.2547   น้อยคนที่รู้จัก สึนามิ ว่าหมายถึงอะไร  ชาวเล มอแกนก็ไม่รู้จักสึนามิ พวกเขารู้จักคลื่นน้ำที่มีพลังรุนแรงที่พึงหลีกหนีให้พ้น เรียกชื่อว่า ละบูน หรือ คลื่น 7 ชั้น ผ่านเรื่องเล่า สืบกันมาหลายร้อยปี


คลื่นลูกที่ 1 ย้อนรอยคลื่นยักษ์ 2547 สึนามิที่ไม่รู้จัก


สึนามิในประเทศไทย (ปี 2547)  เกิดจากแผ่นดินไหวที่ร่องซุนดา(Sunda Trench) เกิดการมุดตัว ของเปลือกโลกที่เกยกัน ใต้ทะเลลึกราว 30 กม. ด้านเหนือของเกาะสุมาตรา มีระดับความรุนแรง ลำดับ4ของโลก ก่อคลื่นสึนามิบนผิวน้ำที่แลดูเป็นคลื่นธรรมดาสูงราว 30 ซม. ขณะเคลื่อนตัวในทะเลลึก ด้วยความเร็วเท่าเครื่องบินเจ๊ต ระยะทางจากจุดกำเนิดห่างจากภูเก็ตราว580 กม.


คลื่นเข้าสู่ชายฝั่งอันดามันของประเทศไทยเวลา 9 นาฬิกาของ เช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 มวลน้ำที่จุพลังแผ่นดินไหว 9 แมกนิจูด เมื่อสู่เขตน้ำตื้นคลื่นยกตัวสูง และเมื่อขึ้นฝั่งชายหาดคลื่นสูงระดับ 5-14 เมตรแตกต่างกันไปตามลักษณะชายฝั่ง เข้าปะทะซัดอาคาร คน สัตว์ สรรพสิ่ง ส่งผลกระทบรุนแรง ต่อจังหวัดชายฝั่งอันดามันของไทย  ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, ระนอง แต่พื้นที่พังงา เสียหายหนักกว่าที่อื่น เพราะสึนามิที่เขาหลักสูงสุดราว 15 เมตร ตลอดพื้นที่ต่อเนื่องจากชายฝั่งเขาหลัก บางเนียง แหลมปะการัง หาดบางสัก เกาะคอเขา จนถึงเกาะพระทอง ที่คลื่นสูง 19.6 เมตร  จังหวัดพังงา มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายมากที่สุดใน 6 จังหวัดอันดามันของไทย  ความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมชุมชนรุนแรง ที่สุด บางชุมชนอย่าง ชุมชนบ้านน้ำเค็มบนชายฝั่ง และ บนเกาะพระทอง บ้านปากจกกับบ้านทุ่งดาบ ถูกกวาดทำลายทั้งชุมชน




สำหรับพื้นที่วิกฤติจากความรุนแรงของคลื่นยักษ์เข้าที่ชายฝั่งพื้นที่เขาหลัก ต่อเนื่องบางสัก บ้านน้ำเค็ม   อ.ตะกั่วป่า  จ.พังงา และ บ้านปากจกและบ้านทุ่งดาบ บนเกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา สรุปดังนี้


1. พื้นที่เขาหลัก คลื่นสึนามิพร้อมพลังแฝงในมวลน้ำ ความสูงคลื่นราว 11-13 เมตร คลื่นมีพลังแรงซัดสาดเข้าไปในพื้นที่ชายฝั่งลึกถึง 290 เมตรจากฝั่ง  (เปรียบเทียบคลื่นที่เข้าหาด ป่าตอง จ.ภูเก็ต ความสูงของคลื่นราว 6  เมตร) เขาหลักเป็นจุดท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างขาติ ส่วนใหญ่มาจากสแกนดิเนเวียมากที่สุดและยุโรปบางส่วน  เช่น เยอรมัน  มีโรงแรมหรูขนาดใหญ่ จำนวนมาก อาคารโรงแรม ริสอร์ท พังเสียหาย

หนัก


ภาพถ่ายดาวเทียมที่นักวิชาการภูมิศาสตร์ทำการวิเคราะห์  แสดงสภาพบริเวณเขาหลัก บางเนียงและ แหลมปะการัง หลังสึนามิ เป็นจุดที่คลื่นสูงสุด ปะทะชายฝั่งรุนแรงที่สุด


2. ที่บ้านน้ำเค็ม ชุมชนริมทะเลยุคเหมืองแร่ดีบุกเฟื่องฟู ในยุครุ่งเรืองกล่าวกันว่า เราสามารถพบคนที่มาจากจากทุกจังหวัดที่นี่ เพราะมาทำงาน แสวงโอกาสในชีวิต และปักหลักอยู่อาศัยถาวร

คลื่นที่แฝงพลังงานจากแผ่นดินไหวราว9 แมกติจูตในมวลน้ำ  การศึกษาของนักวิจัยสึนามิ ชาวญี่ปุ่น1 ปีหลังเหตุการณ์ ระบุ ว่า จากการศึกษา 4 พิกัด คลื่นสูง4.1-15.8 เมตร  ขณะที่ข้อมูล พิพิธภัณฑ์ระบุ คลื่นสึนามิขณะเข้าปะทะ เวลา 9.40 น. คลื่นลูกแรกมีความสูง 7เมตร นานราว สองนาทีคลื่นลูกที่สอง ความสูง 5 เมตรเข้าปะทะเวลา 9.45 น.

แน่นอนว่าพลังจากแผ่นดินไหวที่แฝงในมวลน้ำขนาดนี้เกินพอที่จะกวาดบ้านเรือนผู้คนและซัดพาเรือประมง ใหญ่สองลำ เกยตื้นกลางชุมชน  เกือบทั้งชุมชนถูกทำลาย บ้านเรือน 90%พังราบ  ชาวบ้านน้ำเค็มเสียชีวิตราว 1000 คน เรือ 400 ลำเสียหาย ส่วนที่รอดพ้นเพราะพลังน้ำสิ้นสุด คือท้ายหมู่บ้านที่เป็นที่สูงเป็นที่ตั้ง วัดและโรงเรียน


 ภาพถ่ายดาวเทียม แสดงสภาพพื้นที่บ้านน้ำเค็มหลังสึนามิ พื้นที่ที่ชุมชนริมทะเล


ปัจจุบันบ้านเรือนถูกสร้างขึ้นใหม่และมีคนอาศัยอยู่จำนวนหนึ่งกับกลุ่มประชากรใหม่ ส่วนใหญ่ เป็นชาวพม่าที่มาเช่าบ้าน 


ความเปลี่ยนแปลงทางนิเวศสำคัญคือ ชายหาดที่เพิ่มมาบนพื้นที่เดิมเป็นทะเล   เกิดการซัด ตะกอนทรายสะสะสมหลายปี กลายเป็นหาดทรายใหญ่ที่ธรรมชาติแถมให้หลังสึนามิ ราว 8 ปี พื้นที่ส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นสนามทรายเล่นฟุตบอลของเด็กและผู้ใหญ่ ในปี 2567


เดิมพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นลง  กระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลง เกิดการทับถมกลายเป็น       หาดทรายขนาดใหญ่และส่วนหนึ่งกลายเป็นสนามฟุตบอล  หน้าหาดขยับไปอยู่หลังแนวต้นสน


ที่นี่ บ้านน้ำเค็ม เป็นชุมชนภัยพิบัติที่ก่อตัวขึ้นอีกครั้งได้  และกลายเป็นที่ตั้งของทั้งความทรงจำ สังคมแบบทางการ ทั้งอนุสรณ์สถานสึนามิ และพิพิธภัณฑ์สึนามิ เพิ่งเสร็จเปิดบริการมา ราวสองปี ซึ่งเป็นที่สถิตของเรือทั้ง สองลำที่ถูกคลื่นซัดพามา เรือสีฟ้า และเรือสีส้ม อยู่ร่วมกับความทรงจำ ของชุมชนที่ไม่ได้จดจำ บันทึก แต่เราสามารถมาค้นหาได้จากการพูดคุยกับชาวบ้าน ที่อยู่ในเหตุการณ์


3. ชุมชนปากจก เป็นชุมชนที่เสียหายมากที่สุด บนเกาะพระทอง ข้อมูลจากสัมภาษณ์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์โดยตรงที่จุดนี้  ประมาณว่าคลื่นสูงราว 4-5 เมตร ขณะที่ข้อมูลการศึกษาของ นักวิชาการหลังสึนามิระบุ ถึงคลื่นที่บ้านปากจก ว่า คลื่นสึนามิสูง 6.6 เมตร แต่สามารถซัดจาก หาดเข้าไปแผ่นดินลึกถึง 236 เมตร และทำให้ทุ่งหญ้าสะวันนาบนเกาะเสียหายมาก  ก่อนมาถึง คนจำนวนมากที่วิ่งหนีและรอดชีวิตจากเนินที่เป็นบ่อกุ้งที่อยู่ถัดมา ทั้งชุมชนถูกกวาดทะลาย ชาวบ้านปากจกเสียชีวิตราว  22  คน  ปัจจุบันไม่มีชุมชนบ้านปากจกเดิม ณ จุดที่ตั้งเดิมริมทะเล แบบลงบันไดก็ถึงทะเลอยู่อีกแล้ว ชุมชนหนึ่งสิ้นสลาย  คนส่วนใหญ่ย้ายมาอยู่บนฝั่งแผ่นดิน เกิดเป็นชุมชนบางรักชัยพัฒนา  แต่คนบางส่วนยังอยู่เกาะในพื้นที่ปลอดภัยกว่า ที่บ้านแป๊ะโย๊ว

อีกชุมชนบนเกาะพระทอง ที่เสียหายพอกัน คือ บ้านทุ่งดาบ ที่การศึกษาของนักวิจัยญี่ปุ่น 1 ปีหลังสึนามิ ระบุว่าคลื่นสึนามิที่เข้าบ้านทุ่งดาบสูงถึง19.6 เมตร และคลื่นซัดเข้าไปลึก 30 เมตร และสร้างความเสียหายแก่บ้านทุ่งดาบอย่างมาก คล้ายกับบ้านปากจก





2o ปีสึนามิ กับความทรงจำสังคม


ผ่านไป 20ปี คลื่นยักษ์สึนามิ  การสำรวจพื้นที่ความทรงจำทางสังคมที่หลงเหลือและบางสิ่งที่ถูกลืม  ประกอบด้วย  พิพิธภัณฑ์ อนุสรณ์และงานศิลปะต่างๆ เป็นหีบห่อความทรงจำในรูปแบบต่างๆ ของความทรงจำท้องถิ่นแบบทางการที่จับต้องง่ายสุด พื้นที่เขาหลัก บางสักและบ้านน้ำเค็ม ในจ.พังงา สำหรับผู้สนใจสัมผัส เรียนรู้ความทรงจำที่ถูกจัดเก็บอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย


 1.อนุสรณ์สถานเรือตรวจการณ์ 813 ที่บางเนียง ใกล้เขาหลัก ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า  ดูแลโดย อบจ.พังงา


 


ภาพที่แสดงที่นี่ใช้ภาพวาดเป็นหลัก  รูปนี้เป็นภาพวาดจากคนท้องถิ่นบันทึกความทรงจำสึนามิ ในภาพ จะเห็นเรือตรวจการณ์ ต.813 ที่มารักษาการณ์ในทะเลบริเวณเขาหลัก ตามภารกิจอารักขาบุคคลสำคัญ และถูกซัดขึ้นฝั่ง


เรือ ต.813 ลำจริงที่แสดงเป็นหลักฐานบันทึกเรื่องราวสึนามิ ที่อนุสรณ์สถานสึนามิ ที่บ้านบางเนียง ใกล้เขาหลัก


2.สวนอนุสรณ์บ้านน้ำเค็ม  บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า ดูแลโดย อบต.บางม่วง


ผู้คนและนักท่องเที่ยว ยังคงมาเยี่ยมชมและในวาระ 20 ปีสึนามิ ที่นี่จะเป็นจุดจัดงานรำลึกหลักเพียงแห่ง เดียว โดยกำหนดจัดงานสามวัน ระหว่างวันที่ 24-26 ธค.2567


สวนอนุสรณ์บ้านน้ำเค็ม บอกเล่าความทรงจำผ่าน แนวคิดในการออกแบบให้เสมือนเป็นมวลคลื่นที่โค้ง ซัดเข้ามา  ฝั่งตรงข้ามเป็นแผ่นหินเซรามิกสี  ติดแผ่นจารึกนามผู้เสียชีวิตและผู้ไร้นามบางส่วน


3.พิพิธภัณฑ์สึนามิ  บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา  ดูแลโดยกระทรวงวัฒนธรรม

เป็นแหล่งข้อมูลสึนามิในไทยที่ครบถ้วนกว่าทุกแห่งที่มีอยู่ในพื้นที่ ผู้สนใจและนักท่องเที่ยวสามารถ ทำความเข้าใจเหตุการณ์ด้วยข้อมูลที่มีการกลั่นกรองแล้วหลังเหตุการณ์  พร้อมทั้งข้าวของจริงใน เหตุการณ์มากมายรวมถึงรถยนต์คันหนึ่ง


เปิดให้บริการฟรีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถสนับสนุนโดยการซื้อสินค้าที่ระลึกและสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากชุมชนซึ่งนับว่าเป็นแนวทางการจัดการที่ดี


ภาพจากหอคอยทรงสูงที่ออกแบบจากหอสูงของเรือ ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ทะเลที่สงบสวยงาม ต่างจาก 20 ปี ก่อน ในเช้า 9 นาฬิกา วันที่ 26 ธค.2547  ที่บางคนในเหตุการณ์รู้สึกว่า เหมือนวันโลกแตกและไม่รู้จะเรียกสิ่งนี้ว่าอะไร


เด็กน้อยสองคนกำลังเล่นซ้อมยิงฟุตบอล โดยนายทวารใช้รองเท้าแตะเป็นถุงมือลดแรงปะทะบอล ที่แรงดุจคลื่นยักษ์   ฉากหลังของพวกเขา คือ ผลจากพลังในมวลน้ำสึนามิหรือละบูนของชาวเล ที่นำพา เรือสองลำ สีฟ้าชื่อ  โชคสิริพร สีส้มชื่อ เรือศรีสมุทร  ที่ถูกสึนามิซัดขึ้นฝั่ง จัดวางข้างแนวกำแพงสีขาวแทนคลื่น แสดงระดับความสูงของคลื่นสึนามิที่เข้าฝั่งตรงจุดนี้ คือลูกแรก 7 เมตรและคลื่นลูกที่สอง 5  เมตร ตามข้อมูลพิพิธภัณฑ์ระบุ



ความทรงจำท้องถิ่นแบบชาวบ้าน


1.ที่บ้านน้ำเค็ม

                   “เรื่องสึนามิ “วันที่คลื่นเข้ามา ผมโชคดีที่ครอบครัวไม่เป็นไร แต่ก็เลิกทำประมงเพราะ คิดว่าเสี่ยง กลัวเจออีก หลังสึนามิเขาสร้างบ้านใหม่ให้ข้างนอกแต่ผมอยากอยู่ที่เดิมเลยกลับมาอยู่ที่เดิมในบ้านน้ำเค็ม กับญาติพี่น้อง”


เรื่องคลื่น 7 ชั้นของชาวเล “เรื่องเล่า คลื่นยักษ์ 7ชั้นนี่ ไม่มีเลย   ไม่เคยได้ยินว่าจะเกิดเหตุการณ์ แบบนี้เลย  รุ่นพ่อก็ไม่เคยพูดถึงเลยสักครั้ง รุ่นพ่อจะมีเรื่องเล่าหรือเปล่าก็ไม่รู้  ยิ่งรุ่นผม นี่ก็แทบไม่รู้ ภาษามอแกลน คนอื่นพูดกันผมยังฟังไม่ออกเลย   คำที่ฟังออกคือ กินข้าว ไม่เคยได้ยินเรื่องโบราณจาก พ่อแม่เลย ยิ่งชาวเลพวกเกาะสุรินทร์ เกาะพยามนี่ผมฟังไม่รู้เลย มอแกลนที่นี่ลืมความรู้หมดแล้ว ”

ทนต์ กล้าทะเล ชาวบ้านน้ำเค็ม ชาวเล มอแกลน

2. ที่บ้านปากจก เกาะพระทอง

บนเกาะพระทอง มี 4 หมู่บ้าน ที่เสียหายมากคือหมู่4 บ้านปากจก และ หมู่ 1 บ้านทุ่งดาบ ส่วนหมู่3 เกาะระ และหมู่2 ท่าแป๊ะโย่ว เสียหายไม่มากเท่า หมู่ 1 และหมู่4  ราวสองปีหลังสึนามิ มีการสร้างบ้านพักทดแทนให้ชื่อ บ้านพักไลออนส์สำหรับชาวบ้านหมู่ที่ 4 ปากจก หมู่บ้านใหม่นี้ สร้างอยู่ห่างจากทะเล เพราะเดิมชุมชนบ้านปากจกอยู่ติดทะเล เป็นที่อยู่ร่วมกันของคนไทย เชื้อสายจีน มุสลิมและชาวเล ทั้งมอแกลนและมอแกน ปัจจุบันไม่มีชุมชนปากจกริมทะเลอยู่อีกแล้ว


นายนิ  วงศ์สุรทิน  อายุ 52ปี คนไทยเชื้อสายจีน  ตอนเกิดคลื่นยักษ์อายุ32 ปี เดิมประกอบอาชีพประมง

“ในวันนั้นคลื่นสูงประมาณ 4 เมตร ที่ขึ้นมาที่ชายหาดแล้วแต่ความแรงของน้ำแรงมากเลย พราะระดับน้ำซัดที่มาถึงบริเวณกลางๆเกาะ ระดับน้ำเพียงแค่เข่าที่ซัดมาถึงเราก็ทำให้ล้มได้... หลังจากเหตุการณ์ สึนามิ ผมก็ไม่กล้ากลับไปอยู่เกาะพระทอง  เพราะผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรเมื่อไหร่ ผมไม่รู้ ผมคิดว่าแผ่นดินจะยุบอีก แต่ช่วงหลังผมไม่ค่อยกลัวแล้ว เพราะไปค้นหาความรู้และมีประสบการณ์ ด้วยตัวเองด้วย”  เปรียบเทียบกับข้อมูลหลังเหตุการณ์ระบุว่า สึนามิที่เข้าปะทะเกาะพระทองโดยตรงแรง และสูง 6.6 เมตร แต่มีพลังแล่นเข้าแผ่นดินลึกถึง 236 เมตร และสิ้นสุดที่ปะทะบ่อเพาะกุ้งที่มีขอบเนินบ่อ ช่วยให้คนรอดตายจำนวนมาก


นายนิ วงศ์สุรทิน  ไทยเชื้อสายจีน ชาวเกาะพระทอง ประมาณความสูงของคลื่นที่ซัดเข้าชุมชนปากจกที่เขาอาศัยอยู่ ว่าสูงสัก 4  เมตร โดยยกมือกะประมาณให้คนฟัง พอนึกออกว่าคลื่นที่เขาเผชิญตอนนั้น สูงประมาณระดับหลังคาบ้าน


พิชัย ตุหรัน  ตอนนั้นอายุ 7 ขวบ อยู่ชั้น ประถม1  อยู่หมู่บ้านปากจก ชุมชนบนเกาะพระทอง บ้านอยู่ติดทะเลเลย เป็นเด็กชายในครอบครัวชาวประมงจึงคุ้นเคยทะเลดีมาก

 “ตอนที่คลื่นซัดใกล้มาถึงชายหาด  ป้าข้างบ้านที่รู้จักกันคนหนึ่ง มาจูงมือพาให้ผมวิ่งหนีออกจาก ชายหาด ไปทางตอนบนของเกาะทางทุ่งหญ้า วิ่งไปสักพัก ป้ามีอาการเหนื่อย หอบ  จึงหยุดวิ่งและบอกให้ ผมซึ่งเป็นเด็กเล็ก วิ่งไปก่อน ส่วนแกขอหยุดพัก ผมก็เลยวิ่งต่อไป ตามคนอื่นๆ ไป  และเป็นครั้งสุดท้าย ที่ได้เจอป้า เพราะตอนหลังได้ทราบว่าป้าคนนี้เสียชีวิตในเหตุการณ์ “


เขาจำได้ว่า “ตอนเด็กๆ  เวลาเล่นน้ำทะเลที่หน้าบ้าน จะมีผู้ใหญ่ มาบอกทำนองขู่ว่า ให้ระวัง คลื่นยักษ์ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่เชื่อ และไม่เคยกลัว จนเมื่อเกิดคลื่นยักษ์สึนามิเข้ากับตัว ทำให้ย้อนคิดถึง เรื่องที่ผู้ใหญขู่เด็กๆให้ระวังตัวเวลาเล่นน้ำ อย่าเล่นเพลิน ให้ระวังตัวตัวคอยสังเกตคลื่นและสิ่งรอบตัว แต่ผมก็ไม่รู้ว่า ผู้ใหญ่คนนั้นเขาได้ยินจากไหน หรือจากใคร “หรือเขาได้ยินจากชาวเลหรือไม่? เขาไม่รู้



พิชัย ตุหรัน อายุ 7 ขวบเมื่อเผชิญคลื่นยักษ์สึนามิที่บ้านปากจก 20 ปีผ่านไป ปัจจุบันเด็กชาย 7 ขวบ เป็นนายพิชัยอายุ 27ปีแล้ว

เขาย้ายขึ้นฝั่งอาศัยในชุมชนบางรักชัยพัฒนาที่ มูลนิธิชัยพัฒนาสร้างขึ้นให้ใหม่บนฝั่ง เพราะสะดวกกว่า

แต่ยังคงประกอบอาชีพประมงเต็มตัวเหมือนตอนอยู่บนเกาะพระทองโดยใช้เส้นทางคลองที่มีป่าชายเลน

ปกป้องลดพลังคลื่นยักษ์ได้อย่างดี เป็นเส้นทางแล่นเรือออกสู่ทะเล


คลื่นลูกที่2 “ละบูน คลื่น7 ชั้น” คลื่นที่ไร้เสียง(voiceless knowledge)

ความรู้ที่ถูกลืม 


ภูมิปัญญาชาวเล:เป็นผลจากการสังเกตทะเลหลายร้อยปี  คือ ภูมิปัญญาของ ผู้อ่านน้ำจำลม อ่านฟ้าจำดาว  จากการส่งต่อนับร้อยปี เป็นความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่รัฐไม่สนใจ สังคมไม่เคยรับรู้ จนเมื่อเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2547  สังคมนอกอันดามันจึงได้เริ่มรู้จักชาวเลเป็นครั้งแรก รับรู้ถึงการมีอยู่ ของชาวเลหรือที่คนอื่นชอบเรียกตามสมญาที่ฝรั่งยุคค้าทางเรือสำเภา เรียกพวกเขาว่า ยิปซีทะเล

 ช่วงเหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ.2547 มีการเสนอข่าวน่าตื่นเต้นจากสื่อมวลชนว่า ที่จังหวัดพังงาซึ่งเป็น พื้นที่เสียหายหนักที่สุดของประเทศไทย พบว่า ชาวเลมีการเตือนภัยและนำนักท่องเที่ยวขึ้นที่สูง   จากเรื่องเล่าแฝงความรู้แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาติพันธ์ทะเล กลุ่มชาวเล มอแกน เกาะสุรินทร์  จ.พังงา  เมื่อชาวเล สังเกตเห็นน้ำทะเลลดลงผิดปกติจึงพากันหนีขึ้นที่สูงและสามารถนำพานักท่องเที่ยว พ้น

สึนามิได้อย่างปลอดภัย  จากนั่นเรื่องนี้ก็เงียบหายและไม่มีบันทึกในความทรงจำอย่างเป็นทางการ ในพิพิธภัณฑ์ หรือแหล่งข้อมูลสำคัญ


จากความทรงจำอย่างเป็นทางการ สิ่งที่น่าสนใจคือ ภูมิปัญญาความรู้โบราณในการเตือนภัย คลื่นยักษ์ของชาวเล ว่า ยังสืบทอดในหมู่ชาวเลเพียงใด จากการค้นหาชาวเลที่รู้จักเรื่องเล่า คลื่น 7 ชั้นในพื้นที่จุดวิกฤติหนัก จากเขาหลัก  บ้านน้ำเค็ม และเกาะพระทอง เพื่อสอบถามความทรงจำต่อ ภูมิปัญญาที่เคยโด่งดังในช่วงสึนามิ โดยเน้นถามการรับรู้เรื่องเล่านี้ก่อนสึนามิ 2547 นับว่ายาก อาจเพราะขาดการสืบทอดภูมิปัญญาโบราณ


ชาวเลในชุมชนชาวเล มอแกลน ทั้งที่บ้านน้ำเค็ม และผู้อพยพจาก เกาะพระทอง  เช่น ที่บ้านน้ำเค็ม ทนต์ กล้าทะเล ชาวเล มอแกลน บอกว่า ตัวเขาไม่เคยได้ยิน และรุ่นพ่อก็ไม่เคยเล่า ไม่เคยพูดถึงเรื่อ งคลื่นยักษ์ ความรู้ในการสังเกตหรือการระวังตัวจากคลื่นใหญ่หรือคลบื่นยักษ์อะไรเลย   เช่นเดียวกับ การคุยกับชาวเล มอแกลน เกาะพระทอง สามช่วงวัย  อายุ88 ปี, อายุ  64 ปีและอายุ 35 ปี พวกเขา ไม่เคยรู้จัก ละบูน และไม่เคยรู้ เรื่องเล่า คลื่น 7 ชั้น


อย่างไรก็ตามด้วยความบังเอิญ เราพบกับ  เจ้า กล้าทะเล  ชาวเล เกาะพระทอง ที่จริงเขาไม่ใช่ คนเกาะทองโดยกำเนิด แต่ย้ายถิ่นฐานมาจากเกาะสุรินทร์เพราะเป็นชาวมอแกน ที่มาแต่งงานกับหญิงสาว ชาวเล มอแกลน เกาะพระทอง จึงมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ สิ่งที่เขารับรู้เป็นเช่นไร?

 

ภัยพิบัติสึนามิ กับความรู้ชาวเลในการเตือนภัย(Early warning)


“ถ้าทะเลเงียบผิดปกติ  น้ำลง น้ำขึ้นผิดปกติ  ท้องฟ้าดูผิดปกติ และนกร้องผิดปกติ ให้ระวังตัว จากคลื่นยักษ์”


เรื่องเล่าชาวเล มอแกน ที่ส่งทอดถึงวันนี้   สัมภาษณ์ นายเจ้า กล้าทะเล ชาวเล  มอแกน เกาะสุรินทร์


เจ้า กล้าทะเล ชาวเล  มอแกน กับเรือก่าบางจำลอง เรือที่เดิมในวิถีชีวิตมอแกน

สร้างขึ้นจากไม้ระกำที่เบา เป็นเรือที่ไม่มีวันจม


ชาวเล  สั่งสมความรู้จากขีวิตในทะเล การสังเกตสัญญาณธรรมชาติ เช่น ความผิดปกติของน้ำทะเล (น้ำทะเลถอยออกไปอย่างรวดเร็ว), การเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้า หรือเสียงที่ไม่ปกติ ก่อนที่จะเกิด คลื่นยักษ์ที่คนทั่วโลกเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า  สึนามิ   ชาวเลรู้จักและเรียกสิ่งนี้ ว่า "ละบูน" ซึ่งหมายถึง คลื่นใหญ่ที่มีพลังทำลาย เชื่อว่าเป็นประสบการณ์ที่บรรพบุรุษชาวเลในอดีตหลายร้อยปีเคยเผชิญ และเล่าสืบกันมาผ่านรูปแบบเรื่องเล่าแฝงความรู้ให้ระวังภัย


ความรู้แบบภูมิปัญญาของชาติพันธ์และท้องถิ่น 


เกิดจากการอยู่ร่วมแบบพึ่งพาธรรมชาติในวิถีชีวิต  เป็นความรู้ความเข้าใจในลักษณะของคลื่นและ การเคลื่อนไหว, ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้า ลมและดวงดาว ตลอดจนการสังเกตพฤติกรรม ของสิ่งมีขีวิต รอบตัว ช่วยให้ชาวเลสามารถระวังภัยได้ดีขึ้น ขณะที่การส่งต่อภูมิรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น ที่ส่งทอดผ่านคำบอกเล่า เรื่องเล่า ตำนาน ตลอดจนทักษะชีวิตจากการ ประสบซ้ำในชีวิตประจำวัน


จากข่าวชาวเล ที่ช่วยนักท่องเที่ยวด้วยความรู้จากเรื่องเล่าคลื่น7ชั้นที่น่าจดใจในวันวิกฤติ20ปีก่อน อย่างไรก็ตามความจริงก็เพียงไม่นานหลังสึนามิ  เรื่องราวข่าวสารและความรู้ของชาติพันธ์ก็ถูกลืม และไม่เป็นที่สนใจจากรัฐ และขาดจากการรับรู้สังคม หรือแม้แต่ในกลุ่มชาวเลเองก็รับรู้กันในกลุ่มเล็กมาก รวมทั้งความรู้ในการต่อเรือขาวเล แบบต่างๆที่แตกต่าง มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เช่น เรือก่าบาง ของมอแกน  เรือของอูรักลาโว้ยจและเรือของมอแกลน เพราะหันมาใช้เรือหัวโทงแบบชาวประมงปักษ์ใต้


สิ่งที่เรียกว่า “ละบูน” ในเรื่องเล่า คลื่น 7 ชั้น  กับเรื่องชาวเลที่ช่วยชีวิตนักท่องเที่ยวเป็นเพียงกรณี ตัวอย่างหนึ่งในระบบความรู้ชาติพันธ์หลากหลาย ที่เป็นภูมิปัญญาที่ไร้เสียงมาโดยตลอด จนในยุคสมัย ของโลกที่แปรปรวนจากโลกร้อนและระบบนิเวศมหาสมุทรกำลังมีอาการ “ร้อนเปรี้ยวและหายใจไม่ออก”  ในปี ค.ศ.2021จึงเกิดคำประกาศทศวรรษแห่งมหาสมุทร( คศ.2021-2030 )หรือ UN Ocean decade เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกร่วมมือกัน เร่งแสวงหาศึกษาความรู้ชาติพันธ์ทะเลและภูมิปัญหาท้องถิ่น เกี่ยวกับทะเล เพื่อช่วยในการจัดการรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติในยุคโลกร้อนและทะเลเดือด


ดังข้อมูลล่าสุดของภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลต่อภาวะ มหาสมุทรกำลังร้อนเปรี้ยว (คือทะเลร้อนและน้ำทะเล มีความเป็นกรดสูงขึ้น) จากการติดตามอาการของโลกในปีนี้ 2024  อัพเดทถึงเดือน พ.ย.ที่กล่าวโดยเฉพาะ เจาะจง สำหรับประเทศไทย พบว่า ทะเลอันดามัน ร้อนขึ้นอีก1 องศาเซนเซียส (ส่งผลต่อแหล่งหญ้าทะเล และเหล่าพะยูน ที่จะเห็นข่าวการพบพะยูนที่ภูเก็ตมากขึ้นจากการเดินทางหาแหล่งอาหาร )


แสดงระดับอุณหภูมิในภูมิภาคและมหาสมุทร  ข้อมูลล่าสุดในปีคศ.2024  ถึงเดือน พย.นี้เอง การเพิ่มขึ้นของระดับอุณหภูมิ

หน่วยวัดองศาเซนเซียส (ข้อมูล National centers for Environmental information) แสดงให้เห็นว่า

ขณะนี้ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียน้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซนเซียส



ในยุคโลกร้อน การศึกษาและให้ความสำคัญของความรู้ชาติพันธ์ทะเล ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อ ผสานความรู้วิทยาศาสตร์แบบตะวันตกและเทคโนโลยี กับบทบาทของท้องถิ่นในการเก็บข้อมูล สังเกตการณ์ธรรมชาติ  ที่กระจายตัวตามชายฝั่ง จึงมีความสำคัญและจำเป็น


อาจเริ่มต้นจากการให้คุณค่า ต่อความรู้และภูมิปัญญาที่เงียบงันเพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจ ภูมิปัญญาความรู้ของชาติพันธ์ทะเลในประเทศไทย ในขณะที่ประเทศรัฐชายฝั่งทะเลหลายแห่ง ให้ความสนใจในเรื่องนี้มานานแล้ว จากปัญหาโลกร้อนและการเตรียมตัว หาวิธีรับมือ แก้ไข และบรรเทาผลกระทบเท่าที่เป็นไปได้ในขณะที่ยังมีเวลาเพียงพอในการดำเนินการมาตราการสำคัญ ตัวอย่าง เช่น เพื่อนบ้าน อินโดนีเซีย ที่มีการศึกษาความรู้ชาติพันธ์ทะเลและภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น ในชายฝั่งทะเล ที่ส่งผลต่อการจัดการเชิงนโยบาย  ที่เด่นชัดคือ การตัดสินใจย้ายเมืองหลวง และการ จัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมแนวทางผสานความรู้ท้องถิ่น



 

แหล่งข้อมูล:

Syahputra, H. (2019). Indigenous knowledge representation in mitigation process: a study of communities’ understandings of natural disasters in Aceh Province, Indonesia. Collection and Curation38(4), 94-102.

Moura, G. G. M., & Diegues, A. C. S. A. (2023). The Production of the Human in Classical Oceanography: A Critics from Socio-environmental Oceanography. Ambiente & Sociedade26, e0196.

Gasalla, M. A., & Diegues, A. C. (2011). People's Seas: “Ethno‐Oceanography” as an Interdisciplinary Means to Approach Marine Ecosystem Change. World Fisheries: A Social‐Ecological Analysis, 120-136.

Tsuji, Y., Namegaya, Y., Matsumoto, H., Iwasaki, S. I., Kanbua, W., Sriwichai, M., & Meesuk, V. (2006). The 2004 Indian tsunami in Thailand: Surveyed runup heights and tide gauge records. Earth, planets and space58, 223-232.

พิพิธภัณฑ์บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

 

 

 

Comments


bottom of page