Detention (2020)
- Indigo Q
- Jul 26, 2022
- 2 min read
Updated: 2 hours ago
เธอคือฉัน แต่ฉันไม่ใช่เธอ

“Detention” ซีรีย์สัญชาติไต้หวัน สร้างจากวิดิโอเกมส์ชื่อเดียวกันของค่าย Red Candle Games เล่าถึงภาวะที่รัฐริดลอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในช่วงเวลาที่เรียกว่า “White Terror” ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1947 และทำให้ไต้หวันตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกต่อเนื่องยาวนานถึง 38 ปี
ในขณะที่รัฐใช้อำนาจกับคู่ขัดแย้งทางการเมือง คนส่วนหนึ่งก็ฉวยใช้อำนาจในการจัดการกับคนที่ตัวเองไม่ชอบ เช่น เพื่อนบ้านที่ไม่ชอบหน้า สามีที่นอกใจ หรือกระทั่งคนที่ต้องการฮุบสมบัติ ฯลฯ
ไม่ต่างจากที่อื่นๆ ในโลก ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดด่างพร้อยของชาติ จะถูกกลบฝังไว้ เพื่อให้คนในสังคมลืมๆ ไป เช่นเดียวกับ เรื่องของ ฟางรุ่ยซิน ที่ถูดปกปิดไว้ในตึกร้างของโรงเรียนมัธยมกรีนวูด นับตั้งแต่มีการกวาดล้างและสังหารครูกับนักเรียนที่ต้องสงสัยว่า ตั้งชมรมอ่านหนังสือต้องห้าม ในปี 1962
ปี 2000 หลิวอวิ๋นเซียง นักเรียนใหม่ย้ายมาจากไทเป เธอมีปัญหาเรื่องเห็นภาพหลอน วันแรก แค่เดินเข้าโรงเรียน เธอก็ถูกยึดหนังสือ (เรื่อง 1984 นวนิยายว่าด้วยโลกที่คนในสังคมถูกริบเสรีภาพ ไม่มีการกระทำใดๆ ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน พ้นไปจากการสอดส่องของรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ) จากนั้นเธอก็ถูกแขวนป้ายมาร เพราะบังอาจต่อต้านระเบียบในห้อง
อวิ๋นเซียงแอบเข้าไปในตึกร้าง เพื่อสูบบุหรี่และพบกับ เฉิงเหวินเลี่ยง นักเรียนที่ถูกลงโทษให้ใส่ป้ายแขวนคอ “มาร” เช่นกัน ทั้งสองเห็นนักเรียนหญิงรุ่นพี่กระโดดตึกลงมาตายต่อหน้าต่อตา และได้รู้ในเวลาต่อมาว่า รุ่นพี่คนนั้นคือ ฟางรุ่ยซิน
แม้จะรู้สึกถึงอันตราย แต่อวิ๋นเซียงก็ยังคงพัวพันกับฟางรุ่ยซิน เธอได้รู้ว่า บ้านที่แม่กับเธอมาเช่าอยู่เคยเป็นบ้านของรุ่ยซินมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องราวในชีวิตของเธอก็ซ้อนทับ เหมือนเรื่องราวเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ของฟางรุ่ยซิน

น่าเสียดายที่ Detention ฉบับซีรีย์ เน้นเรื่องราวรักสามเส้า ที่ไม่เพียงทำให้มีจุดสะดุดที่ความสัมพันธ์ของครูจางกับฟางรุ่ยซิน ซึ่งล่อแหลมต่อการเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม ด้วยครูอยู่ในฐานะที่มีอำนาจเหนือนักเรียน ต่างจากในเกมที่ความสัมพันธ์ของทั้งสอง ยังอยู่ในขอบเขตของความรู้สึกที่ผูกพันกัน ที่สำคัญฉบับซีรีย์ลบเลือนความหนักแน่นของการเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคม ซึ่งฉบับเกมส์และหนังทำได้ดีกว่ามาก

เรื่องของฟางรุ่ยซินเกิดขึ้นในปี 1962 เป็นเวลาที่ไต้หวันอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แม้แต่ภายในโรงเรียนก็ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้รุ่ยซินสามารถใช้อำนาจรัฐกำจัดศัตรูหัวใจ แต่ผลที่ตามมาหนักหนาเกินกว่าที่เธอจะรับไหว
รุ่ยซินกลายเป็นวิญญาณที่วนเวียนอยู่ในช่วงเวลาของความขมขื่น นานหลายทศวรรษ ที่เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเธอไม่รู้ที่มา จึงไม่มีที่ไป ประเด็นอยู่ที่ว่า.. เธอลืมสิ่งที่เกิดขึ้น หรือเธอไม่อยากจะจำ...
White Terror ของไต้หวัน เริ่มขึ้นจาก "เหตุการณ์ 228" ที่เกิดขึ้นใน เดือนที่ 2 (กุมภาพันธ์) วันที่ 28 ปี 1947 เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายหญิงม่ายผู้ต้องสงสัยขายบุหรี่เถื่อน และยิงใส่คนที่มามุงดูด้วยความโกรธแค้น เช้าวันรุ่งขึ้น ข่าวชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต นำไปสู่การชุมนุมประท้วง และรัฐสั่งการปราบปรามอย่างรุนแรงทั่วประเทศ มีคนบาดเจ็บและล้มตายหลายพันคน ส่งผลให้รัฐบาลจีนคณะชาติของไต้หวันเวลานั้น ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีเจียงไคเช็คประกาศใช้กฎอัยการศึก และใช้ต่อเนื่องมาเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองอีก 38 ปี
ถ้าสงสัยว่าอะไรคือความขัดแย้งในไต้หวัน ก็ต้องย้อนกลับไป 2 ปีกอ่นหน้า (ปี 1945) เมื่อจีนคณะชาติซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย ดร.ซุนยัตเซ็นพ่ายแพ้แก่จีนคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง ที่สามารถรวบรวมจีนทั้งแผ่นดินเป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน”

เจียงไคเช็คผู้นำจีนคณะชาติในเวลานั้นอพยพไปไต้หวัน และก่อตั้ง “สาธารณรัฐจีน” ขึ้น โดยมีเป้าหมายใช้ไต้หวันเป็นฐานที่มั่น เพื่อตีโต้กลับและยึดจีนแผ่นดินใหญ่กลับมาอีกครั้ง
แต่ไต้หวันไม่ได้เป็นดินแดนที่ว่างเปล่า หากเป็นเกาะใหญ่ที่มีชาวพื้นเมืองหลายเผ่า รวมถึงชาวจีนโดยเฉพาะชาวฮกเกี้ยนที่อพยพมาอยู่เป็นเวลาช้านาน และในปี 1895 จีนภายใต้ราชวงค์ชิงแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่น ทำให้ต้องยอมยกไต้หวันให้กับญี่ปุ่น จนกระทั่งปี 1945 ไต้หวันกลับคืนเป็นของจีนอีกครั้ง เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง
50 ปีใต้การปกครองของญี่ปุ่น ที่คาดหมายจะขยายดินแดนขึ้นมาบนเกาะแห่งนี้ ชาวไต้หวันถูกบังคับให้ใช้ภาษาญี่ปุ่น และรับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ครั้นญี่ปุ่นออกไป คิดว่าจะได้เป็นอิสระ กลับกลายเป็น “หมาไป หมูมาแทน” ต้องอยู่ใต้อำนาจของจีนคณะชาติ ที่ถึงจะเป็นจีนเหมือนกัน แต่ก็ต่างกัน แบบพูดกันไม่เข้าใจ
คนไต้หวันใช้ภาษาฮกเกี้ยน จีนคณะชาติใช้ภาษาแมนดาริน อีกทั้งรัฐบาลจีนคณะชาติ ใช้อำนาจบีบบังคับ และดึงผลประโยชน์เข้าสู่กลุ่มของตน เช่น การควบคุมผูกขาดการค้าบุหรี่ จนนำไปสู่การลักลอบขาย ดังเหตุการณ์ข้างต้น
เจียงไคเช็คใช้กฎอัยการศึกควบคุมไต้หวัน ทำให้กลุ่มคนที่ต่อต้านระบอบเผด็จการของจีนคณะชาติ และนิยมเอกราชไต้หวัน รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่านิยมคอมมิวนิสต์ จำนวนมากถูกจำกุม ทั้งยังมีผู้บริสุทธิ์อีกมากมาย ที่ถูกจับและลงโทษ เนื่องจากความล้มเหลวของระบบยุติธรรม ในห้วงเวลาที่ใครจะฟ้องใครก็ได้ในข้อหา 'เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ' คาดว่ามีผู้คนล้มตายจากการสังหารหมู่และกักขัง ทรมาน มากกว่าสองหมื่นคน
ทว่าเจียงไคเช็คกลับอยู่ในฐานะของรัฐบุรุษและผู้พิทักษ์วัฒนธรรมจีน เขาหนีออกจากแผ่นดินใหญ่ พร้อมกับขนของมีค่า ศิลปวัตถุ รวมถึงหนังสือหายากจำนวนมากมาด้วย พระราชวังต้องห้ามได้รับการจำลองขึ้นอย่างอลังการ เปิดเป็น “พิพิธภัณฑ์กู้กง” ในปี 1965 เพื่อแสดงศิลปวัตถุที่จีนคณะชาติขนออกมา แสดงความเป็นจีนอันเกรียงไกร บนเกาะไต้หวัน
แม้ว่า ท้ายที่สุด จีนคณะชาติสูญเสียอำนาจทางการเมืองและการทหารเหนือแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการในปี 1949 แต่บรรดาผู้นำจีนคณะชาติยังไม่สูญสิ้นความหวัง เจียงไคเช็คยังได้รับความชื่นชม ในส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจจากสังคมเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม นำพาไต้หวันขึ้นเป็นหนึ่งในสี่เสือแห่งเอเชีย ที่เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับ ฮ่องกง สิงคโปร์ และเกาหลี ในขณะที่เวลานั้น จีนคอมมิวนิสต์ยังประสบปัญหาความแร้นแค้น
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งภายในและการปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้ประชาคมโลกสอดส่องการใช้อำนาจของรัฐบาลจีนคณะชาติมากขึ้น ความหวังที่จะให้ “สาธารณรัฐจีน” เป็นจีนเดียวอันชอบธรรมค่อยๆ หมดไป “สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน)” สูญเสียที่นั่งในสหประชาชาติในปี 1971 (สหรัฐอเมริกา รับรอง “สาธารณรัฐประชาชนจีน(จีนแผ่นดินใหญ่)” แทนในปี 1979 และจนถึงเวลานี้สหประชาชาติยังไม่รับรองฐานะเป็นประเทศของไต้หวัน แม้ไต้หวันจะยื่นเรื่องไปแล้วถึง 14 ครั้ง)
หลังเจียงไคเซ็คถึงแก่อสัญกรรมในปี 1975 แม้มีการใช้กฎอัยการศึกต่อมาอีก 12 ปี แต่สถานการณ์ทางการเมืองบนเกาะไต้หวันเปลี่ยนแปลงไป เสียงของคนท้องถิ่นไต้หวันดังขึ้น ในขณะที่สายสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่เลือนรางลง เด็กรุ่นใหม่มองจีนแผ่นดินใหญ่เป็นปฏิปักษ์มากกว่า เป็นถิ่นที่อยู่ของบรรพชน ทิศทางของสังคมเปลี่ยนจาก “ชาตินิยมจีน” สู่ความเป็นประชาธิปไตย และ “ความเป็นไต้หวัน”
ปี 2016 โค่ว เหวิน เจ๋อ(Ko Wen-je) นายกเทศมนตรีนครไทเป ขี่จักรยานจากเหนือสุดถึงใต้สุดของเกาะไต้หวัน รวมระยะทาง 520 กิโลเมตร เพื่อรำลึกถึงคุณปู่ที่เสียชีวิตจากการถูกทรมานโดยจีนคณะชาติ เขากล่าวว่า “ชาวไต้หวันต้องได้เป็นเจ้าของไต้หวัน คนไต้หวันต้องสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเอง และคนไต้หวันจะต้องสร้างโลกใหม่ ที่เสมอภาคและยุติธรรม..”
แทนการฝังกลบเรื่องราวในอดีต ชาวไต้หวันเรียกร้องให้รื้อฟื้นเหตุการณ์ White Terror และทบทวนฐานะของเจียงไคเช็ค ดังคำจารึกที่อนุสรณ์สถานเหตุการณ์ 228 ที่ว่า “ประชาชนไต้หวันเห็นพ้องต้องกันว่า จะไม่มีความหวังสำหรับสันติภาพและความสมานฉันท์ จนกว่าบาดแผลในประวัติศาสตร์ไต้หวัน จะได้รับการระลึกถึงและจดจำ”

ในซีรีย์ รุ๋ยซินพยายามครอบงำอวิ๋นเซียง และบอกว่า “เธอคือฉัน ฉันก็คือเธอ” แต่อวิ๋นเซียงแย้ง ว่า “เธอคือฉัน แต่ฉันไม่ใช่เธอ” และสำหรับอวิ๋นเชียง ความสงบไม่ได้เกิดจากการพยายามจะลืม แต่เป็นการยอมรับความจริง และอยู่ร่วมกับอดีต แม้มันจะยากและขมขื่น...
ไม่ต่างกับทุกสังคมที่มีรอยแผล เราเชื่อมโยงกับอดีต และมีอดีตเป็นส่วนหนึ่งของเราอย่างปฎิเสธไม่ได้
แต่เราไม่จำเป็นต้องย้อนซ้ำรอยเดิม เรามีทางเลือกและเลือกที่ทำให้ดีกว่าเดิมได้ตลอดเวลา เธอจึงคือฉัน และฉันไม่จำเป็นต้องเป็นเธอ

Detention
ซีรีย์ความยาว 8 ตอน โดย 3 ผู้กำกับ I Hsuan Su, Chaung Shiang An และ Yi Liu
ผู้แสดง หลิวอวิ๋นเซียง :Lee Ling-Wei ฟางรุ่ยซิน Han Ning
อ่านเรื่องอื่นๆ ได้ที่ #BMFH:BewareMyFoolishHeart ภาพจาก Netflix
Comments