top of page
supita reongjit

Photo Essay : คนกับเคย

Updated: 2 days ago

ทุ่งออง 20 ปีหลังสึนามิ


สุพิตา เริงจิต






‘เคยทุ่งออง’ บ่งบอกว่า ป่าชายเลนกลับคืนสู่ความสมบูรณ์ หลังถูกทำลายจากสึนามิใน 2547 และชีวิตของคนทุ่งอองหมุนไปตามวัฎจักรของธรรมชาติอีกครั้ง


'ทุ่งออง' หรือ 'ทุ่งละออง' ยามเช้า หมู่บ้านแห่งนี้ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน อุดมด้วยสัตว์น้ำรวมถึงกุ้ง ‘เคย’ ที่สร้างชื่อเสียงให้ทุ่งอองในฐานะหมู่บ้านทำกะปิ มามากกว่าร้อยปี ด้านหน้าหมู่บ้านมองไปเห็นเกาะพระทอง ที่ช่วยลดความรุนแรงของสึนามิ



หลังสึนามิ ‘เคย’ หายไปพร้อมกับป่าชายเลน ก่อนกลับมาอีกครั้งเมื่อป่าค่อยๆ ฟื้นตัว ระยิบน้ำเล็กๆ ริมฝั่งเป็นสัญลักษณ์ที่คนทำกะปิรู้ว่าวันนั้นมี ‘เคยขึ้น’


ช่วง ‘เคยขึ้น’ คนทำกะปิจะออกหาเคยในเวลาน้ำลง โดยใช้เรือเล็กกางตาข่ายช้อนไปตามชายฝั่ง ในครั้งนี้ สุรศักด์(ปู) กำมะหยี่ ออกหาเคยไปตามเส้นทางคลอง รอบป่าชายเลน ตั้งแต่ราวตีสอง และกลับมาราวหกโมงเช้า


อรษา(อ้อ) มาช่วยสุรศักดิ์ หาบกุ้งเคย ที่มีน้ำหนักรวมสองตะกร้าราว 20 กิโลเศษ นับเป็นวันที่มีเคยขึ้นมากทีเดียว


ที่บ้าน นิ่มและสมภักดิ์ กำมะหยี่ แม่และพ่อของสุรศักดิ์ มาช่วยกันทำกะปิ ตามแบบอย่างที่ชาวทุ่งออง รวมทั้งมารดาของสมภักดิ์เคยทำต่อเนื่องกันมา และถ่ายทอดให้นิ่มได้เรียนรู้ ในฐานะลูกสะใภ้ ส่งต่อมายังรุ่นลูกชายสุรศักดิ์และอรษาลูกสะใภ้ เป็นรุ่นที่สาม ครกไม้ที่ใช้ตำเคยใบนี้ สมภักดิ์ทำเองกับมือ โดยใช้ขวานเจาะไม้เม่าซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ให้เป็นหลุม ส่วนด้านนอกใช้ขวานถากและตกแต่งด้วยกบไสไม้ ตัวสากทำจากต้นถั่วทะเล ที่มีลำต้นตรงและน้ำหนักพอดีที่จะทำให้เนื้อเคยละเอียด



กะปิทุ่งอองเป็นผลงานทำมือในทุกขั้นตอน ปลาที่ติดมาถูกคัดออก เพื่อไม่ให้กะปิมีกลิ่นเหม็นและเสียรส


ในขณะที่ฝนสร้างความอุดมของกุ้งเคย แดดเป็นของจำเป็นในการผลิตกะปิ หากเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นวันแดดออกหรือฝนตก ก็ย่อมเป็นวันที่ดี

 

สีสัน เนื้อสัมผัส และกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของกะปิทุ่งออง มีเคล็ดลับอยู่ที่ความสดของเคยและความปราณีตในการทำของคน

 

20 ปีผ่านไป ป่าชายเลนที่ถูกทำลายจากสึนามิ ฟื้นคืนกลับมา สำหรับคนที่ทำมากินอยู่ตรงนี้ร่วม 70 ปี สมภักดิ์เล่าว่า ความอุดมสมบูรณ์ลดน้อยไปมาก สัตว์บางอย่างเช่น ปูหน้าขาวที่เขาเคยจับมาให้ลูกกิน จนได้ชื่อว่าปู ตามของโปรด หายไปจากที่นี่นานแล้ว ผู้คนที่มากขึ้น การจับสัตว์โดยไม่มีเวลาพัก ตลอดจนเครื่องมือที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุหลัก


“ของอยู่ในน้ำ” คือ ความจริงที่นิ่มอยากจะบอกกับลูกค้าถึงเหตุที่ผลผลิตมีจำนวนจำกัด ความอุดมสมบูรณ์ของเคยขึ้นกับดุลยภาพของสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้เรายอมรับข้อจำกัดของธรรมชาติ  นอกเหนือจากการมองทรัพยากรธรรมชาติ  ในฐานะวัตถุแห่งการครอบครอง ควบคุม และแสวงหาประโยชน์


บางทีความทรงจำถึงสึนามิ ช่วยให้เราไม่ลืมความรู้สึกที่ว่า เราเล็กแค่ไหนและธรรมชาติยิ่งใหญ่เพียงใด พลานุภาพของสึนามิเผยให้เห็นมายาคติของการพิชิตและควบคุมธรรมชาติ มนุษย์เราทำได้เพียงสังเกต เรียนรู้ เพื่อปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลง


เราไม่อาจหยุดยั้งภัยพิบัติธรรมชาติ อย่างแผ่นดินไหวและสึนามิ ในทางตรงกันข้ามสถานการโลกร้อนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของดาวเคราะห์ดวงนี้ และข้อจำกัดของมนุษย์ในการควบคุมและตักตวงธรรมชาติ


 

ขอขอบคุณข้อมูลจากชาวทุ่งละอองและครอบครัวกำมะหยี่

 อรษา กำมะหยี่ อายุ 47 ปี

สุรศักดิ์ กำมะหยี่ อายุ 49 ปี

นิ่ม กำมะหยี่ อายุ 72 ปี

สมภักดิ์ กำมะหยี่ อายุ 70 ปี

Comentários


bottom of page