“ต่อให้ทำแบบนี้ ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นกับฉัน ดูอย่างตอนนี้นี้สิ ไปโหวกเหวกโวยวายถึงสถานีตำรวจ แต่ฉันก็ยังมาอยู่ตรงนี้ มีอะไรเปลี่ยนไปไหม
ไม่มีใครมาปกป้องเธอหรอกดงอึน ทั้งตำรวจ ทั้งโรงเรียน แม้แต่พ่อแม่ของเธอ”
เรื่องราวการข่มแหงรังแกของแก๊งค์ลูกเศรษฐีและลิ่วล้อ ที่นำโดยยอนจิน สร้างบาดแผลที่รุนแรงทั้งบนร่างกายและจิตใจของดงอึน และเธอใช้เวลาถึง 18 ปี เพื่อที่จะกลับมาชำระแค้น
คิมอึนซุก ผู้เขียนบทซีรีย์ The Glory เล่าว่า เธอเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยความสะเทือนใจจากคำถามของลูก ที่ว่า “แม่จะเสียใจอันไหนมากกว่ากัน ระหว่างลูกเป็นคนกลั่นแกล้งรังแกคนอื่น กับการที่ลูกเป็นฝ่ายถูกรังแก”
คำถามของลูกทำให้เธอเริ่มต้นค้นคว้าเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน และพบว่าเหยื่อความรุนแรงส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเงินทองหรือสิ่งของ แต่ต้องการคำขอโทษอย่างจริงใจ ซึ่งตอนแรกเธอก็คิดว่า คำขอโทษอย่างจากใจจริงช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่สุดท้ายเธอตระหนักว่า สิ่งที่เหยื่อต้องการอย่างแท้จริงคือ การกอบกู้สิ่งที่สูญเสียไป อย่างเช่น เกียรติและศักศรี
ลูกสาวของคิมอึนซุกกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมต้น “ความรุนแรงในโรงเรียน”ที่เกิดขึ้นในทุกระดับชั้น กำลังเป็นประเด็นในสังคมทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย คำว่าโรงเรียนที่ถูกนำไปห้อยท้าย เหมือนกับการทำให้คำว่า “ความรุนแรง” ลดระดับปัญหาลง กลายเป็นเรื่อง “ภายใน” โรงเรียน และเรื่องของ “เด็กๆ” ที่ต้องเรียนรู้กันไป.. แต่คำถามสำคัญในซีรีย์นี้ ก็คือ “อะไร” คือสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ในโรงเรียน
ซีรีย์นี้ชี้ว่า เพราะมันเกิดขึ้นในโรงเรียน ความรุนแรงนี้จึงมีนัยสำคัญ โรงเรียนเป็นสังคมแรก ที่เด็กได้ใช้ชีวิตถัดจากบ้าน การเรียนรู้ที่บิดเเบี้ยวและผิดพลาดจากในโรงเรียน จึงมีความสำคัญ
ที่ทำให้เด็กอย่างยอนจินและแก๊งค์ของเธอ เห็นสังคมข้างนอกไม่ต่างจากโรงยิมในโรงเรียน
ที่คนระดับเธอ “จะทำอะไรก็ได้” เหมือนกับที่เธอตอบว่า เหตุผลที่เธอกลั่นแกล้งดงอึนและคนอื่นๆ ก็เพราะเธอสามารถ “ทำได้”
การที่ลูกของยอนจินตาบอดสี ไม่เพียงเป็นหลักฐานยืนยันการนอกใจสามีของเธอ แต่ยังสามารถตีความได้ว่า คนเหล่านี้ “ตาบอดสี” มองคนอื่นๆ ต่างจากตัวเองและเห็นว่าไร้ความสำคัญ จืดจางไม่ต่างจากภาพขาวดำ เหมือนที่หนึ่งในสมาชิกแก๊งค์ทักดงอึนเมื่อเจอกันในวัยผู้ใหญ่ว่า เธอดูมีสีสันขึ้นไม่ เป็นภาพขาวดำเหมือนเมื่อก่อน
ในขณะเดียวกันการดำรงอยู่ในโลกขาวดำที่จืดชืด ยอนจินและเพื่อนๆ ก็ไม่ได้มีเป้าหมายอะไร เธอบอกดงอึนว่า “ฉันไม่มีหรอกความฝัน คนแบบเธอต่างหากที่มีความฝัน และฉันเป็นคนจ่ายเงินเมื่อมันเป็นจริง”
“ฉันเลือกเธอเพราะเธอใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นที่สุดและทุกชิ้นเป็นดิออร์” สามีของยอนจินบอกเหตุผลที่เขาเลือกเธอ และเธอไม่ติดที่เขาไม่แคร์กับคุณสมบัติภายใน (ที่เธอก็คงไม่มี..) ชีวิตที่ว่างเปล่าไร้แก่นสารเช่นนี้ พวกเขาหาเงินและ ใช้เงินสร้างสีสันให้กับชีวิต เป็นโลกที่ต้องอาศัย ความรุนแรง เซ็กส์ ยาเสพติด เพื่อให้ชีวิตมีสีสัน
สำหรับดงอึน สิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน บ้าน และสถานีตำรวจ ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า ไม่มีที่ใดให้พึ่งพิง และต่อให้เธอตายไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง... ความแค้นทำให้เธอยังคงติดอยู่กับโรงยิมที่ถูกทรมานตลอดมา เธออุทิศทั้งชีวิต ให้กับโรงยิมแห่งนั้น เพื่อจะสร้างโรงยิมที่ตัวเองเป็นผู้กำหนดกติกา
เมื่อเธอมีอำนาจเหนือห้องเรียนชั้นอนุบาลของลูกสาวยอนจิน สิ่งแรกที่ดงอึนทำก็คือ สร้างพื้นที่ที่เด็กทุกคนเท่าเทียมกัน..
ซีรีย์นี้กำลังจะบอกกับเราว่า สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเงิน ไม่ต่างจากโรงยิมขนาดใหญ่ เป็นความรุนแรงในระดับโครงสร้าง ที่อำนาจกลายเป็นกฎ ที่ทำให้ความรุนแรงในระดับบุคคลทั้งในและนอกโรงเรียนเกิดขึ้นตลอดเวลา
ในแง่มุมนี้ The glory แสดงให้เห็นความล้มเหลวอย่างถึงที่สุดของสถาบันทางสังคม ทั้งครอบครัว(ทิ้งลูกเพื่อเงิน/สอนลูกผิดๆ) โรงเรียน(ไม่อาจสร้างพื้นปลอดภัยให้นักเรียน/ครูที่มีอคติ เกรงอำนาจเงิน/มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก) รวมถึงกฎหมาย(ตำรวจไม่บังคับใช้กฎหมายกับผู้มีอิทธิพล) ไม่มีสถาบันใดคงเหลือทำหน้าสร้างสังคมที่คนสามารถอยู่อย่างมีศักศรีเท่าเทียมกันอีกต่อไป
มีเพียงกระแสของสังคม ที่ผลักดันให้คนมีทางเลือกแค่สองอย่างคือ จะเป็น “เหยื่อ” หรือ “ผู้กระทำ”
หากเป็นอย่างนั้น จะเหลือพื้นที่ใดให้กับเกียรติภูมิของความเป็นมนุษย์
ในฐานะผู้ผลิตสื่อ คิมอึนซุก ย้ำว่า เรื่องนี้เล่าถึงความแค้นส่วนตัว เป็นการแก้แค้นผ่านปรัชญาและมุมมองของตัวละคร สำหรับสิ่งที่เธอต้องการจะสื่อก็เรียบง่าย “ก้าวข้ามไปให้ได้ และอย่าทำเรื่องไม่ดี” เพราะสุดท้ายแล้ว เกียรติภูมิไม่ใช่สิ่งที่เรายอมให้ใครทำลายและรอให้ใครมอบให้
(จึงต้องรอดูตอนต่อไปว่า จะมีอะไรมากกว่าการใช้ตัวเองเป็นเชื้อเพลิงเผาความแค้นของดงอึน)
ผลงานการกำกับของ อันกิลโฮ ( Happiness (2021), Watcher (2019), Memories of the Alhambra (2018))
ผู้เขียนบท คิมอึนซุก (Mr. Sunshine (2018), Guardian: The Lonely and Great God (2016) และ Descendants of the Sun (2016))
นักแสดง ซงฮเยคโย (ดงอึน) อีโอฮยอน (จูยอจอง) อิมจียอน(ยอนจิน) ภาพจาก Netflix และ IMDB
Comments