เปิดขุมทรัพย์อันดามัน
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี แหล่งรายสูงสุดในกลุ่มอุทยาน
ในภาวะปัจจุบันที่ฝุ่นยังตลบจากกรณีข่าวจับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช ด้วยข้อกล่าวหาการทุจริต โดยคนในแวดวงมีการตั้งประเด็นคาดการณ์ถึงแหล่งที่มาของเงินที่สะพัดและยอดการจ่ายเพื่อการโยกย้ายและหรือการรักษาตำแหน่งเดิมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง โดยเฉพาะแหล่งอุทยานทางทะเล
จากการสำรวจข้อมูลรายได้จากอุทยานแห่งชาติ รายได้หลักหมื่นล้านในช่วงการท่องเที่ยวปกติ มาจาก จำนวนนักท่องเที่ยวและค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล จึงถือเป็นขุมทรัพย์สำคัญโดยเฉพาะ อุทยานฝั่งทะเลอันดามันที่ทำรายได้จากการเข้าพื้นที่อุทยานสูงถึง 1ใน 3 ของรายได้ที่จัดเก็บจากอุทยานแห่งชาติทั้งหมดทั่วประเทศ
Voice of Andaman สืบค้นข้อมูลรายได้จากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเลเปรียบเทียบกับอุทยานทั้งประเทศ พบว่า รายได้จากอุทยานตามปีงบประมาณปี พ.ศ. 2565(นับจาก1 ต.ค.64 ถึง 30 ก.ย.65) รายได้ของอุทยานแห่งชาติทั้งหมดทั่วประเทศเท่ากับ 715 ล้านบาท ในจำนวนนี้รายได้มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาอุทยานแห่งชาติทางทะเลมากสุด คือ 247 ล้านบาท เกือบครั้งหนึ่งของรายได้จากอุทยานแห่งชาติทั้งประเทศ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติฝั่งอันดามัน ทำรายได้ ถึง 207 ล้านบาท (207,045,218 ) ในช่วงการระบาดของโควิด ส่วนอุทยานฝั่งอ่าวไทย รายได้อยู่ที่ 40 ล้านบาท (40,560,944.42บาท)
รายได้ในช่วงวิกฤตโควิดอยู่ที่หลักร้อยล้าน แต่ช่วงปกติรายได้ของกรมอุทยานฯ ทะยานขึ้นถึงหลักพันล้านทีเดียว ข้อมูลย้อนหลังในช่วง 7 ปี ชี้ให้เห็นถึง รายได้อุทยานในระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2559-2563 รวมถึงหลักหมื่นล้านบาท (ราว10,727 ล้านบาท) โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจากอุทยานแห่งชาติทางทะเลเกินกว่าครึ่งหนึ่งมาโดยตลอด บางปีรายได้จากอุทยานทางทะเลฝั่งอันดามันเป็นสัดส่วนถึง 2ใน3ของรายได้จากอุทยานแห่งชาติทั้งหมดของประเทศไทย (ดูตารางรายได้จากอุทยานเปรียบเทียบ)เช่น ปี 2559 รายได้ของอุทยานทั้งหมดของไทย คือ 1,982 ล้านบาท มาจากอุทยานฝั่งอันดามัน 1,248 ล้านบาทหรือเกินครึ่งหนึ่งตลอดมา ปี2560 รายได้อุทยานรวม2,413 ล้านบาท มาจากฝั่งอันดามัน 1,534 ล้านบาท ปี 2561 รายได้รวม 2,708 ล้านบาท มาจากอุทยานฝั่งอันดามันถึง 1,745 ล้านบาท
รายได้ซึ่งมีที่มาจากค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวที่เข้าชมอุทยานนี้ ตอบข้อสงสัยว่า กระแสเงินมากมายที่สะพัดในกรมอุทยานแห่งชาติมาจากไหนและทำไมข้าราชการไม่น้อยจึงต้องการย้ายมาดูแลพื้นที่อุทยานทางทะเล
ในแง่ความสำคัญต่อสังคมเศรษฐกิจไทย อุทยานแห่งชาติทางทะเลคือหัวใจของเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทยด้วย โดยข้อมูลล่าสุด หลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว นับจาก ต.ค.2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเฉลี่ยวันละ 4.5 ถึง 5 หมื่นคน และรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาตินับถึง เดือน ธ.ค. สูงถึง 11 ล้านคน กลายเป็นความหวังเดียวของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด และหากเจาะในระดับพื้นที่ แหล่งรายได้หลักส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวในเขตอุทยานฝั่งอันดามัน
ปลายปี 2565 ซึ่งการท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว รายได้หลังเปิดประเทศ 2 เดือน (ต.ค.และพ.ย.65 ) จากอุทยานทั่วประเทศ อยู่ที่ 192 ล้านบาท ประกอบด้วย เดือน ต.ค. 84 ล้านบาท (86,408,142.50 บาท) และเดือน พ.ย. 105 ล้านบาท(105,994,049.00บาท) พบว่า เป็นรายได้จากอุทยานแห่งชาติทางทะเลราว 80 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้อุทยานทางทะเลฝั่งอันดามันถึง 67 ล้านบาท (ราว 1 ใน 3 ของรายได้อุทยานทั้งประเทศ) และจากฝั่งอ่าวไทย(รวมอุทยานบกด้วย )ราว 13 ล้านบาท
รายงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ปีงบประมาณ 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาอุทยานทางทะเลฝั่งอันดามัน มากที่สุดเรียงตามลำดับ ประกอบด้วย
อุทยาน | จำนวนนักท่องเที่ยว (คน) |
อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี | 4.9 แสน |
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม | 1.89 แสน |
อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา | 1.85 แสน |
อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา | 1.5 แสน |
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน | 1.34 แสน |
อุทยานหมู่เกาะเภตรา | 1.28 แสน |
ทั้งนี้รายได้ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้ โครงสร้างการบริหารจัดการของ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ประกอบด้วย แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอันดามัน ในเขตจังหวัดระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล ได้แก่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติทะเลบัน อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี อุทยานแหล่งชาติธารโบกขรณี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
ในอนาคตประเทศไทยได้เสนอต่อองค์การยูเนสโก เพื่อพิจารณาประกาศให้พื้นที่อันดามันขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และ ปัจจุบันเว็บไซต์ของ ศูนย์มรดกโลก องค์การยูเนสโก ได้เผยแพร่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของประเทศไทย ซึ่งพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แล้ว ประกอบด้วย 6 อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ,พื้นที่ป่าชายเลน จ.ระนอง และพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญทางฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย 3 นิเวศภูมิภาค (Ecoregion) ที่สำคัญ คือ นิเวศภูมิภาคป่าชายเลนและกลุ่มเกาะชายฝั่งนิเวศภูมิภาคหมู่เกาะทะเลลึก และนิเวศภูมิภาคชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่ง
ข้อมูลอ้างอิง - ข้อมูล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช , กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
อนึ่งการนับปีงบประมาณนับคร่อมปี เช่นงบประมาณ ปี2565 ( นับจากช่วงไตรมาสสุดท้าย(1ตค.-ธค.) ของปี2564 บวกช่วง 9 เดือนแรกของปี2565ถึง30กย.)
Comments