top of page

กรีดร้องด้วยเหตุอันใด



Edvard Munch, 1893, The Scream, oil, tempera and pastel on cardboard, 91 x 73 cm, National Gallery of Norway


ภาพที่เหมือนเราได้ยินเสียงกรีดร้องกึกก้องอยู่ในใจนี้ ชวนให้สงสัยว่าสิ่งใดกันที่เขย่าขวัญคนผู้หนึ่ง ในขณะที่อีกสองคนยังคงเดินเล่นต่อไปอย่างรื่นรมย์

 

ไดอารี่ลงวันที่ 22 มกราคม 1892 (พ.ศ.2435) ของเอ็ดวาร์ด มุนช์ (Edvard Munch) บันทึกถึงเหตุการณ์อันเป็นที่มาของภาพ The Scream ของเขาว่า

เย็นวันหนึ่งขณะที่ผมเดินไปตามทาง ที่มีตัวเมืองอยู่ทางด้านข้าง และฟยอร์ดอยู่เบื้องล่าง ผมรู้สึกเหนื่อยและวิงเวียน จึงหยุดพักมองไปทางฟยอร์ด พระอาทิตย์กำลังลับฟ้า หมู่เมฆแปรเปลี่ยนเป็นสีแดงฉานเหมือนเลือด ผมรู้สึกถึงเสียงกรีดร้องทีผ่านเข้ามาในธรรมชาติ มันกรีดร้องใส่ผมและผมได้ยินเสียงนั้น ผมวาดภาพนี้ ระบายหมู่เมฆเป็นสีแดงเหมือนเลือดสดๆ สีที่ส่งเสียงกรีดร้อง และเป็นที่มาของ The Scream”

 

ต่อมาเขานำเหตุการณ์วันนั้น มาบรรยายที่มาของภาพ The Scream

  “ผมกำลังเดินไปตามถนนกับเพื่อนสองคน ทันใดนั้นท้องฟ้าก็เปลี่ยนเป็นสีแดงฉานเหมือนสีเลือด ผมชะงักและรู้สึกสิ้นแรงจนต้องเอนพิงกับรั้ว เลือดและไฟลามเลียอยู่เหนือฟยอร์ดสีน้ำเงินเข้มและตัวเมือง เพื่อนของผมยังคงเดินต่อไป ขณะที่ผมยังนิ่งอยู่ตรงนั้นตัวสั่น ระริกด้วยความหวาดหวั่น รู้สึกได้ถึงเสียงกรีดร้องอันไม่สิ้นสุดจากธรรมชาติที่ห้อมล้อม”

 

มีทฤษฎีอธิบายที่มาของปรากฎการณ์ที่เปลี่ยนการเดินเล่นยามเย็น เป็นความสะพรึงต่ออำนาจของธรรมชาติ ที่ตราตรึงในใจมุนช์ต่อมาอีกนับสิบปี ว่าเกิดจากแรงระเบิดของภูเขาไฟบนเกาะกรากาเตา(กรากาตัว) ในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม1883 ในวันนั้นภูเขาไฟที่สงบมานานเกือบ  300 ปี เกิดการปะทุ 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเป็นการปะทุครั้งใหญ่สุด มีความรุนแรงเท่ากับระเบิดปรมาณูที่ถล่มฮโรชิม่าหมื่นลูก เสียงระเบิดก้องไกลไป 4,600 กิโลเมตร ส่งผลให้เกิดสึนามิหลายระลอก หมู่บ้าน 160 แห่งถูกกวาดลงทะเล มีผู้เสียชีวิตในชวาและสุมาตราเกือบ 17,000 คน

 

ท้องทะเลเกิดคลื่นสูงไกลถึงฝั่งแอฟริกาใต้ อินเดีย ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ฝุ่นเถ้าปกคลุมไปทั่วและปลิวขึ้นสูงสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิทั่วโลกลดลงอยู่หลายปีกว่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ

 

เถ้าภูเขาไฟในชั้นบรรยากาศบดบังแสงอาทิตย์ทำเกิดภาพท้องฟ้าสีแดงฉานยามอาทิตย์อัสดง

ไปไกลถึงสหรัฐแเมริกา ที่มีรายงานว่านักผจญเพลิงเข้าผิดคิดว่าเกิดเพลิงไหม้ ส่วนที่นอร์เวย์บ้านเกิดของมุน ท้องฟ้าสีแดงฉานจากแรงระเบิดของกรากาเตา ปรากฎให้เห็นตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 1883 จึงถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา

 

มุนวาด The Scream ไว้หลายภาพหลายเทคนิคแลเวลาหลายปี ภาพที่เรารู้จักกันดีวาดขึ้นในปี 1893 สิบปีหลังการระเบิดของกรากาเตา รวมอยู่ในชุดภาพชีวิต( The Frieze of life ) ที่เปรียบเสมือนการบันทึกเหตุการณ์ที่สิ่งผลกระทบรุนแรงต่อมุนช์ ทั้ง ความป่วยไข้ ความตาย และปัญหาสุขภาพจิตของน้องสาว รวมถึงธรรมชาติที่ชวนให้สะพรึง หนึ่งในภาพชุด The Scream มีตัวอักษรเล็กๆ ที่ได้รับการวิเคราะห์ในภายหลังว่าเป็นลายมือของมุนช์ เขียนไว้ว่า ‘วาดโดยคนบ้าเท่านั้น’ 

 

ภาพนี้จึงไม่เพียงบันทึกภัยพิบัติครั้งใหญ๋ในประวัติศาสตร์โลก แต่ยังสะท้อนถึงภาวะภายในของศิลปิน ในแง่ศิลปะผลงานของมุนช์ ถือเป็นหมุดหมายการมาถึงของยุค Modern Art และ The Scream เปรียบเหมือนโมนาลิซ่าแห่งศตวรรษที่ 20 แต่ขณะที่โมนาลิซ่าและผลงานอื่นๆ ของดาวินชี แสดงให้เห็นอุดมคติของความสงบและสำรวมในยุคเรเนซองส์ ผลงานของมุนช์ สะท้อนภาวะภายในที่ปะทุออกมาจากความหวาดวิตกและไม่มั่นคงของยุคใหม่ 

 

บางที่อาจจะเป็นสภาวะทางจิตที่ละเอียดอ่อนของมุนช์ ที่สัมผัสกับเสียงกรีดร้องจากรากราตัวที่กระจายไปในอากาศพร้อมกับเถ้าภูเขาไฟ และความอ่อนไหวต่อความไม่มั่นคง ที่สะกดเขาไว้ในขณะที่คนอื่นๆ เดินต่อไป



 

 

ผู้เขียน #Indigo

 

#ศิลปินกับแผ่นดินไหว #ภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ ความหวาดกลัว #สุดยอดผลงานศิลปะของโลก #เอ็ดวาร์ด มุนช์ #ModernArt


Comments


  • White Facebook Icon

Thanks for submitting!

© 2023 by TheHours. Proudly created with Wix.com

บริษัท บี612 วิสาหกิจเพื่อสังคม

99/16 หมู่ที่ 2 ซอยวัดลาดปลาดุก ถนนกาญจนาภิเษกตำบลบางรักพัฒนา อำเภอ บางบัวทอง 

จังหวัดนนทบุรี 11110

โทร 089-449-5695

bottom of page