top of page
supita reongjit

ทวนวิถีกะปิทุ่งออง 20 ปี หลังสึนามิ

Updated: 23 hours ago

สุพิตา เริงจิต



เคยเป็นสัญญลักษณ์ความสมบูรณ์ของป่าชายเลนและน้ำทะเลที่กลับคืนมาหลังสึนามิ

ปี 2547 สึนามิที่เข้าถล่มชายฝั่งอันดามันในส่งผลให้ป่าแสมบนหาดเลน ที่บ้านทุ่งละออง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เสียหาย100 เปอร์เซ็นต์ และ ’เคย’ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเสียง ‘กะปิทุ่งออง’ หายไปพร้อมกับป่า แม้วันนี้ลานตากกะปิและเรือช้อนเคย บอกให้รู้ว่าป่าชายเลนกลับคืนสู่ความสมบูรณ์ อีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่ายังมีความท้าทายใหม่ๆ ต่อวิถีของคนทำกะปิ

 

“เมื่อครั้งที่ผมยังเด็ก แม่จะเอากะปิไปขายที่ตะกั่วป่า เราใช้ใบพ้อห่อกะปิ เอาลงเรือไปขึ้นตรง หัวท่า (ท่าเรือ)ศรีเมือง ตลาดย่านยาว บางครั้งไปถึงตลาดเก่าบ้าง หน้าโรงพยาบาลบ้าง แต่ตอนนั้น กะปิก็ไม่ได้มีราคาอะไร” สมภักดิ์ กำมะหยี่ อายุ 70 ปี เล่าถึง ‘กะปิทุ่งออง’ ในช่วงทศวรรษ 2500

 

‘ทุ่งออง’ มีชื่อทางการว่า ‘ทุ่งละออง’ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชายฝั่งทะเลอันดามัน อุดมด้วยป่าชายเลน อยู่ในเขตอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ชาวทุ่งอองมีอาชีพทำกะปิกันมาเนิ่นนาน “นานแค่ไหน ผมก็ไม่รู้ เหมือนกันนะ คนที่นี่เขาก็ทำต่อๆ กันมา แม่ผมทำ ผมก็ตามแม่ ออกเรือกับพ่อตั้งแต่เล็กๆ หาปลา หาเคยมาทำกะปิ” สมภักดิ์ ย้อนความหลัง


บ้านทุ่งอองล้อมรอบด้วยป่าชายเลนมองไปเห็นเกาะพระทองไกลๆ


‘กะปิทุ่งออง’ มีชื่อเสียงควบคู่กับ ‘กะปิปากจก’ จากบ้านปากจก บนเกาะพระทอง ซึ่งตั้งอยู่ ด้านหน้า ทุ่งละออง กะปิปากจกจะมีสีอ่อนกว่า เพราะทำจากเคยทะเลนอก จับจากบริเวณชายหาด ในขณะที่ กะปิทุ่งอองเป็นกะปิจากเคยชายฝั่งป่าชายเลนหรือเคยทะเลใน ซึ่งมีสีที่เข้มกว่า

 

หากเข้าไปในบ้านทุ่งละออง ก็จะพบกับคนทำกะปิได้ไม่ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ เกี่ยวข้อง กับการทำกะปิ อย่างน้อยก็เคยทำมาก่อน หรือไม่ก็มีญาติทำกะปิ หลายบ้านเลิกทำกะปิ ด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป ส่วนใหญ่เป็นด้วยปัจจัยราคา จึงเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่มีรายได้ดีกว่า เช่น ทำสวนยาพารา หาปู หาปลาหมึก ฯลฯ

 

สมภักดิ์ก็เช่นกัน หลังสร้างครอบครัวกับ นิ่ม กำมะหยี่ ซึ่งเป็นชาวเกาะคอเขา (อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา) ทั้งสองทำกะปิด้วยกัน ก่อนจะหยุดไปเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีก่อน “ตอนนั้นที่แม่ทำ หลังสุดราคาก็ราวๆ สามกิโลสองร้อยบาท มันถูกมาก ก็หยุดไปทำสวน”  นิ่มเล่า ประกอบกับเวลานั้น สุรศักดิ์ลูกชาย และอรษาลูกสะใภ้ เปิดร้านขายของชำ

 

เหตุการณ์สึนามิถล่มชายฝั่งอันดามัน ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ส่งผลกระทบต่อบ้านทุ่งออง ไม่รุนแรงนัก หากเทียบกับบ้านปากจก “ที่ปากจกหายไปทั้งหมู่บ้านเลย แต่ที่นี่มีแค่คลื่นกับน้ำท้นขึ้นมา ที่เสียหายก็เป็น พวกเรือ เครื่องมือทำมาหากิน น้ำหอบขึ้นไปทางเขา ตอนนั้นลูกคนโตเพิ่งได้ขวบ พอเขาบอกมีคลื่นยักษ์ พี่ปู(สามี) ไม่เชื่อยังจะขึ่รถไปดูอีก พอเห็นน้ำมาก็หอบลูกหนี ไม่ได้อะไรติดมาเลย นอกจากตะกร้านม ที่เราไม่เป็นอะไร ก็เพราะคลื่นไม่ได้สูงมากและไม่ได้เข้ามาไกล ถ้าแรงเท่าที่อื่น เราก็คงหนีไม่ทัน” อรษาฟื้นความจำ


หลังจากนั้นเป็นเวลาหลายต่อหลายเดือนกว่าที่ชีวิตของชาวทุ่งอองจะเข้าสู่ภาวะปกติสุข แต่ใช่ว่า ทุกอย่าง จะเหมือนเดิมเสียทีเดียว รวมถึงกะปิที่เคยลือชื่อ  “ไม่รู้เป็นไง เรารู้สึกว่ากะปิ มันไม่อร่อย ไม่ถูกปาก เหมือนเคย ก็มาคิดว่าแม่(สามี)ทำเป็น เลยชวนกันทำ ทำแล้วเหลือกินก็วางขายหน้าร้าน  แต่ได้ แค่ปีแรก ปีเดียว จากนั้นไม่ได้วางขายอีก เพราะทำเสร็จก็มีคนซื้อไปหมดทุกปี” อรษา เล่าถึงสาเหตุ ที่เธอมาฟื้นการทำกะปิในครอบครัว


อรษาและนิ่ม ช่วยกันบรรจุกะปิหลังตากเสร็จใหม่ๆ ลงกระปุกเตรียมขาย ส่วนใหญ่มีผู้จับจองไว้แล้ว


ทั้งนี้อรษาหรืออ้อ เป็นชาวอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เธอชักชวนและเรียนรู้วิธีทำกะปิจาก แม่สามี เมื่อราว 8-9 ปีก่อน นับจากนั้นการทำกะปิ กลายเป็นอาชีพเสริมของครอบครัว ที่สร้างรายได้ อย่างงาม “เดี๋ยวนี้กะปิโลละสองร้อย ไม่เหมือนสมัยแม่” นิ่มเล่าเสริม

 

สมภักด์กำลังตำกะปิที่หมักไว้จนได้ที่และนำออกตากแดดก่อนนำมาตำแล้วบรรจุขาย


วิธีการทำกะปิของครอบครัวกำมะหยี่ยังคงเป็นไปตามวิถีเก่าแก่ของทุ่งออง ครกไม้ที่ใช้ตำเคย จนละเอียด ก็มาจากแรงงานและฝีมือของสมภักดิ์ “ผมขอไม้มาจากพวกทำเตาถ่าน เป็นไม้เม่า ต้นมันสีดำ เนื้อแข็ง เอามาแล้วใช้ขวานขุดเป็นครก ด้านนอกใช่กบไสให้เรียบ ส่วนสากเป็นไม้ถั่วทะเล ที่มีลำต้นตรง และ น้ำหนักดี” อรษาเล่าเสริมว่าที่ไม่ใช่เครื่องบดเคย เพราะทำให้กะปิเสียง่ายเก็บไม่ได้นาน



สุรศักด์กลับจากหาเคย เขาออกเรือไปตั้งแต่ตอนน้ำลงช่วงค่ำและกลับมาในช่วงเช้ามืด

 

 แม้กะปิจะราคาดี แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนเคยที่หามาได้ สุรศักดิ์ซึ่งทำหน้าที่หาวัตถุดิบ เล่าว่า สำหรับเคยทะเลนอกซึ่งอยู่บริเวณชายฝั่ง เวลาเคยขึ้นจะเห็นเป็นแผ่นสีแดงลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ “พอเคยขึ้นพวก ที่เขาไปหาปลาก็จะบอก ถ้าเป็นเคยทะเลนอกก็จะต้องเอาเรือลำใหญ่ออกไป เพราะเคย จะขึ้นครั้งละ เยอะมากเป็นร้อยกิโล มองเห็นเป็นแผ่นสีแดง แต่จะขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ ราวเดือนตุลาฯถึง เดือนพฤศจิกาฯ ก็หมด ส่วนตรงป่าชายเลน ช่วงเวลาที่มีเคยจะนานกว่า คือในช่วงที่ยังมีฝน ก็จับได้เรื่อยๆ ตอนน้ำลงของ แต่ละวัน แต่จำนวนจะไม่มาก ใช้เรือลำเล็กไปจับ ครั้งละประมาณ 20-30 กิโล”

 

ช่วงเวลาที่ ‘เคยขึ้น’ ไม่แน่นอน “บางปีเคยน้อยและขึ้นไม่กี่เดือน เพิ่งจะมีปีนี้ที่เคยขึ้นมากและ นานกว่าทุกๆ ปี” ทั้งนี้เนื่องจากปีนี้ช่วงของฝนนานกว่าปีก่อนๆ จากความทรงจำของนิ่ม ตามปกติฤดูกาล ของเคย จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน 6 (ราวเดือน พฤษภาคม) ไปจนถึงสิ้นปี



ชาวทุ่งอองเล่าตรงกันว่า หลังสึนามิเคยหายไป  “หายไปหมดเลย หลายเดือนเลย จากนั้นก็มีบ้าง แต่ไม่มากนัก หลังๆ ก็เริ่มมากขึ้น” สุคนธ์ แตงอ่อน อายุ 74 ปี เล่าถึงสถานการณ์จากที่เคยมีอาชีพ หาปลาและหากุ้งเคยทำกะปิ แต่ปัจจุบันเธอหยุดพักเนื่องจากอายุมากขึ้น มีหลานรับหน้าที่ทำแทน


สุรศักดิ์ที่บริเวณท่าจอดเรือเล็กๆ ในป่าชายเลน มองเห็นป่าชายเลนอีกฝั่ง ซึ่งระยะแรกผลกระทบจากสึนามิ ทำให้แนวป่ารอบนอกเสียหาย แต่ปัจจุบันฟื้นคืนสมบูรณ์ดังเดิม


รายงานเบื้องต้นของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน ระบุว่า ผลกระทบจากสึนามิ ทำให้ปาชายเลนเสียหายประมาณ 1,912 ไร ในจำนวนนี้อยูในจังหวัดพังงา 1,900 ไร่ และมีเพียง 500 ไร่ ที่เสียหายระดับรุนแรง ทั้งนี้ความเสียหายมีทั้งต้นไม้หักโค่น ล้มตาย พื้นที่ถูกกัดเซาะ มีการทับถมของ ตะกอน หรือทางเดินน้ำเปลี่ยน ส่งผลให้ความเค็มและความขุ่นของน้ำเปลี่ยนแปลงไป

 

สำหรับพื้นที่ทุ่งละอองมีบันทึก ความเสียหาย100 % ของป่าแสมบนหาดเลน ส่วนป่าชายเลนที่ อยู่ลึกเข้าไป เช่น ป่าโกงกาง ไม่มีความเสียหาย “ป่าบริเวณขอบๆจะยืนต้นตายหมด แต่ตอนนี้ขึ้นมาใหม่ หมดแล้ว ส่วนด้านในไม่เป็นอะไร ” สุรศักดิ์ให้ข้อมูลตรงกัน

 

ต่อมามีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนที่เสียทั้งหมด เริ่มจากการเก็บซากเครื่องมือที่ถูกคลื่นพัดขึ้นไป ติดค้างอยู่ ตามแนวป่า เพื่อให้ป่าได้ฟื้นคืนพร้อมกับปลูกไม้เพิ่ม สี่ปีหลังเหตุการณ์สึนามิมีการสำรวจ การฟื้นคืนสภาพของป่าชายเลน ตามพื้นที่แปลงป่าปลูกใหม่  พบมีสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยหลายชนิด เชน ปลาตีน ปูกามดาบ ปูแสม หอย และพบลูกปลาขนาดเล็กที่เขามาในชวงน้ําขึ้น


ปลาหลากชนิดที่สมภักดิ์หามาได้ มีเพื่อนบ้านมาแบ่งซื้อ บางส่วนเขานำไปขายที่แพปลา


ในขณะที่ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง สมภักดิ์ให้ความเห็นจากประสบการหากินกับทะเลมามากกว่า 60 ปี ว่า “ช่วงหลังสึนามิ จำนวนสัตว์น้ำไม่ได้ลดลงเท่าไหร่ เทียบกับปัจจุบันจะลดมากกว่า เพราะจำนวน

คนจับมากขึ้น นอกจากคนทุ่งออง ก็มีเรือจากที่อื่นด้วย พอตกค่ำในทะเลไฟสว่างไปหมด ไม่มืดเหมือน แต่ก่อน ที่สำคัญการจับสัตว์น้ำสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน อย่างปูเมื่อก่อนมีมาก แต่ตอนนี้เขาใช้ลอบพับ ซึ่งขนา ตาข่ายเล็กมาก ปูตัวเล็กๆ เข้าไปติดตายหมด อีกอย่างเมื่อก่อน ร้านรับซื้อปู เขารับเฉพาะตัวใหญ่ และรับเฉพาะช่วง 11-5 ค่ำ นอกจากนั้นพักให้ปูได้วางไข่ ได้โตขึ้น แต่ตอนนี้เขารับซื้อตลอดทุกวัน และทุก ขนาด ตัวเล็กๆ เขาก็เอาไปทำปูนิ่ม” 


สมศักดิ์โชว์ลอบพับที่เขาเก็บได้มีขนาดตาข่ายเล็กมากเมื่อเทียบกับตาข่ายอวนที่เขาใช้จับปลา


 ตลาดยุคใหม่ที่เติบโตตามการผลิตแบบอุตสาหกรรม เรียกร้องปริมาณสินค้าที่สม่ำเสมอและการ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยไม่มีข้อจำกัด ในขณะที่ความต้องการกะปิิเพิ่มขึ้นจากขนาดตลาด ที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะการขายสินค้าออนไลน์ ทำให้กะปิทุ่งอองมีพื้นที่การตลาดไกลกว่าการขายใน อำเภอหรือจังหวัด ขยายเป็นการขายทั่วประเทศ แต่มีข้อจำกัดด้วยปริมาณกุ้งเคยที่ลดลงและไม่แน่นอน   

  “ก็ส่งไปหลายที่ค่ะ อย่างที่สุรินทร์ก็มีสั่งเข้ามา แต่เคยไม่ได้มีมาก บางปีก็น้อย ปีนี้ดีที่เคยขึ้นนาน กว่าทุกปี บางครั้งคนซื้อเขาไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีของ เราก็บอกบางครั้งไม่มีแดด ตากกะปิไม่ได้ หรือบางที หมดช่วงเคยขึ้นแล้ว” อรษา เล่า “ของมันอยู่ในน้ำนะ” ผู้เป็นแม่กล่าวเสริมให้เห็นข้อจำกัดที่ขึ้นต่อ ธรรมชาติ


กะปิที่มีผู้สั่งจองและบัญชีขายกะปิของอรษา


ไม่ต่างจากสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ตลาดไม่ยอมรับข้อจำกัดของฤดูกาล ส่งผลให้ชาวบ้านบางส่วนต้องรับซื้อ กุ้งหมักจากที่อื่น เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอขายได้ตลอดปี อีกทั้งต้องใช้เครื่องบดเพื่อให้สามารถผลิตได้ จำนวนมาก แน่นอนว่าผลที่ได้ย่อมแตกต่างจากการผลิตกะปิจากเคยสดๆ ในพื้นที่ และการตำมือด้วย ครกไม้


วิถีกะปิทุ่งอองสัมพันธ์กับความอุดมของป่าชายเลน และการยอมรับข้อจำกัดของธรรมชาติ


20 ปีผ่านไป พื้นที่ป่าชายเลนของบ้านทุ่งละออง ไม่เหลือร่องรอยความเสียหายจากสึนามิ มีเพียง ความทรงจำ ถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ มุมมองที่ช่วยสร้างสมดุลให้กับโลกที่ก้าวไปข้างหน้าด้วย ความเร็วของการครอบครอง ควบคุม และตักตวงผลประโยชน์จากธรรมชาติ  ภัยพิบัติที่มากขึ้นจาก สถานการณ์โลกร้อนย้ำถึงความสำคัญของการยอมรับข้อจำกัดของธรรมชาติ ที่เรามักจะหลงลืม


 

แหล่งข้อมูล

 สัมภาษณ์ชาวทุ่งออง ระหว่าง วันที่ 2 และ 3 ธันวาคม พ.ศ.2567

ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ

อรษา กำมะหยี่ อายุ 47 ปี

สุรศักดิ์ กำมะหยี่ อายุ 49 ปี

นิ่ม กำมะหยี่ อายุ 72 ปี

สมภักดิ์ กำมะหยี่ อายุ 70 ปี

สุคนธ์ แตงอ่อน อายุ 74 ปี

ขวัญชนก แก้วแกม อายุ 49 ปี

 

หนังสือ ป่าชายเลนจากสึนามิถึงปัจจุบัน ของ ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2

สํานักอนุรักษทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จาก https://www.dmcr.go.th/

 

Comments


bottom of page