top of page
Writer's pictureclassyuth

ผู้ “อ่านน้ำจำลม อ่านฟ้าจำดาว”

Updated: Aug 23, 2023

ปี 2547 เรื่องราวของ ‘ชาวเล’ เป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ ถล่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน


เรื่องเล่าถึงผู้รอดชีวิตจากภัย ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่ในเวลานั้น

ด้วยภูมิรู้จากเรื่องเล่าสืบทอดกันมาของชาวเล เกี่ยวกับละบูน หรือคลื่นยักษ์เจ็ดชั้น



ลักษณะบ้านแบบดั้งเดิมของชาวมอแกน ถ่ายเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2547 ณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

ภาพจาก จุฬาวิทยานุกรม http://www.chulapedia.chula.ac.th/index.php?title=%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A5


หลังจากนั้น ภาครัฐเร่งฟื้นฟูชายฝั่งอันดามัน ภายใต้นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยศักยภาพของความงดงามตามธรรมชาติ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จังหวัดชายฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะภูเก็ต พังงา กระบี่ ขึ้นเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวระดับโลก


จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากเราเดินไปตามชายหาด ยอดนิยม อย่าง ราไว ป่าตอง เขาหลัก อ่าวนาง ไร่เลย์ แล้วเจอะเจอผู้คนหลายสิบเชื้อชาติจากนับร้อยประเทศ


ชายหาดริมทะเลอันดามัน มีอาหารหลากหลายเมนูจากทุกมุมโลกให้เลือกสั่ง


มีที่พักตั้งแต่กระท่อมจากฝีมือชาวบ้านราคาหลักร้อย ไปจนถึงโรงแรมระดับหกดาว สายพันธุ์ต่างชาติ และพลูวิลล่าหลักหมื่นต่อคืน


ปี 2019-2021 การระบาดของโควิด 19 ทำให้ชีพจรชายฝั่งแผ่วลงถึงหยุดนิ่ง ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นคืน เมื่อโรคระบาดจางลงไป


แสงไฟ 24 ชั่วโมง ของร้านสะดวกซื้อสร้างความคึกคักให้ชายหาดอีกครั้ง



หลายสิบปีของกระแสการท่องเที่ยว รอยเท้าใหม่ๆ จารึกทับถมไปบนชายหาด


ยากจะจินตนาการถึง เจ้าของรอยเท้าแรกบนชายฝั่งอันดามัน


ผู้สร้างเรือลำเล็ก แล่นฝ่าคลื่นลม ไปทั่วพื้นทวีป


ผู้สร้างถิ่นฐานขึ้นบนชายฝั่งรกชัฏ อุดมด้วยโรคภัย ที่ความอยู่รอดของชีวิตขึ้นกับความรู้และเข้าใจธรรมชาติ


ผู้ “อ่านน้ำจำลม อ่านฟ้าจำดาว”


"ชาวเล"


ภาพโดย Gordon Johnson By Internet Archive Book Images - https://www.flickr.com/photos/internetarchivebookimages/14583572210/, No restrictions, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=94227512


ความงดงามที่ส่งให้ชายฝั่งอันดามันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก เริ่มขึ้นในยุค เทอร์เชียรี เมื่อราว 65 ล้านปีก่อน สันฐานชายฝั่งทะเลอันดามันเกิดการขยับตัวและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ขนาดส่งผลให้ชายฝั่งทั้งหมดจมตัวลง ชายฝั่งทะเลแถบนี้จึงมีลักษณะแคบ บางช่วงเป็นภูเขา แนวชายฝั่งเว้าแหว่ง มีลักษณะเป็นอ่าวใหญ่น้อย


นอกแนวฝั่งออกไปในทะเล พื้นทะเลลาดชันลึกลงอย่างรวดเร็ว ความลึกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,000 เมตร ในขณะที่อ่าวไทย มีความลึกเพียง 58 เมตร บริเวณแอ่งอันดามันซึ่งลึกมากที่สุด ลึกถึงประมาณ 3,000 เมตร หรือเท่าๆ กับตึกสูง 1,000 ชั้น


ท้องทะเลอันดามัน จึงไม่ได้เป็นราบเรียบ หากแต่เป็นเป็นแนวทิวเขาและผา เกาะที่เห็นคือยอดเขาที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา เป็นเกาะริมทวีป ที่เคยเป็นแผ่นดินเดียวกับทวีป ก่อนที่ชายฝั่งจะจมตัวลง ตัดขาดกับแผ่นดิน กลายเป็น เกาะ เช่น เกาะภูเก็ต เกาะสุรินทร์ เกาะสิมิลัน ตาชัย


บางส่วนของแผ่นดิน มีทะเลเข้ามาท่วม กลายเป็นเขตทะเลตื้น ทะเลตั้งแต่อ่าวพังงาลงไปถึงจังหวัดตรัง มีความลาดเทน้อย ความลึกไม่เกิน 300 เมตร หรือประมาณ ตึก 100 ชั้น มีส่วนยอดของภูเขาหินปูนโผล่พ้นน้ำขึ้นมา กลายเป็นเกาะขนาดเล็กเรียงราย อยู่เป็นจำนวนมาก


หลายสิบล้านปีต่อมาคือห้วงเวลาที่ชายฝั่งแห่งนี้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง หินจากกลุ่มเขาหินแกรนิต แถบภูเก็ต ระนอง แตกสลายกลายเป็นหาดทรายขาวสะอาด ในขณะที่ประการังหมดอายุผุพัง กลายเป็นหาดเนื้อละเอียดสีขาวนวลบนเกาะสุรินทร์ ส่วนหินปูนละลายปะปนกับซากพืชชายฝั่ง กลายเป็นดินเลนปนโคลน ของอ่าวพังงา


พืชและสัตว์มากมายหลากหลายพันธุ์ เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และสูญไป


ซากดึกดำบรรพ์ทำให้เรารู้ว่า แถบนี้เคยมีสัตว์ยุคล้านปี อย่างเสือเขี้ยวดาบ บริเวณแอ่งกระบี่ มีอายุราว 35-40 ล้านปี สมเสร็จ กระจง หนู รวมถึงสัตว์ต้นตระกูลเก่าแก่ที่สุดของฮิปโปโปเตมัส


ในท้องทะเล กระแสน้ำจาก 2 มหาสมุทร คือกระแสน้ำน้ำอุ่นทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก และ กระแสน้ำเย็นจากอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย อุดมด้วยแพลงก์ตอน ปะการังเติบโตได้ดีและหลากหลาย


เกิดการผสมผสานกันอย่างสลับซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตจากสองมหาสมุทร ท้องทะเลแถบนี้ จึงเต็มไปด้วยความหลากหลาย


การสำรวจในยุคปัจจุบัน พบปลามากกว่า 700 ชนิด สัตว์ในกลุ่มกุ้งปูหรือครัสเตเชียน อย่างน้อย 140 ชนิด ปะการังแข็ง 160 ชนิด และยังพบสัตว์ทะเลขนาดใหญ่และสัตว์หายาก เช่น พะยูน ฉลามวาฬ วาฬเพชรฆาต กระเบนราหู โลมา และ เต่าทะเล



ภาพโดย Julien Willem - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4447582


บนผืนแผ่นดิน ชายฝั่งอันดามัน มีความหลากหลายของสภาพภูมิประเทศ อาทิ ป่าดิบเขตร้อนไม่ผลัดใบ ป่าภูเขา ป่าชายหาด ซึ่งพบนกมากกว่า 90 ชนิด และ ค้างคาว 16 ชนิด


บริเวณป่าชายหาด และสันทรายชายฝั่ง เป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์หลากชนิด รวมถึงสัตว์หายาก เช่น เต่ามะเฟือง และจักจั่นทะเล


ส่วนร่องรอยมนุษย์นั้น พบร่องรอยเก่าแก่ที่สุดในของมนุษย์โฮโมอีเลคตัส หรือที่เรียกกันว่ามนุษย์วานร อายุ 500,000 ปี และมนุษย์โฮโมซาเปียน ในยุคราว 3-40,000 ปีก่อนหน้านี้


การค้นพบทางโบราณคดี ทำให้ทราบว่า บนแผ่นดินของภาคใต้มีมนุษย์มา ตั้งถิ่นฐาน ตอเนื่องหลายช่วงสมัย ตั้งแต่ 27,000 -3,300 ปีก่อน


ในวันเวลาที่ใกล้กว่านั้น มนุษย์กลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันตามหมู่เกาะ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เดินทางมาถึงแหลมมลายู พวกเขาตั้งถิ่นฐานขึ้นและถือเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ก่อนที่คาบสมุทรแห่งนี้ ถูกยึดครองโดยชาวมลายู


ด้วยเหตุผลไม่แน่ชัด ชนกลุ่มนี้เดินทางออกจากแหลมมลายู หันมาใช้ชีวิตทางทะเล ร่อนเร่ไปตามชายฝั่ง และเกาะต่างๆ ตั้งแต่บริเวณ หมู่เกาะมะริดในเมียนมาร์ ต่อเนื่องลงมาทางใต้และตะวันออก ลงมาถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย จนถึงหมู่เกาะซูลู ในฟิลิปปิน


ชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขายในแถบนี้ เรียกพวกเขาว่า ยิปซีทะเล และส่วนหนึ่งในนั้น ใช้ชีวิตร่อนเร่อยู่ริมฝั่งทะเลอันดามันและหมู่เกาะของไทย คนไทยเรียกพวกเขาว่า ชาวเล และพวกเขาเรียกคนไทยว่า แซม มาจาก สยาม


ชาวเลเข้ามาในสยามนานแค่ไหนไม่มีใครบันทึกไว้ จากการศึกษาวิจัยเรื่องผังตระกูลของ กลุ่มชาวเลที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบางพื้นที่ พบว่าสืบย้อนไปได้ถึง 300 ปี


แน่นอนว่ายุคสมัยที่พวกเขายังร่อนเร่อยู่ในทะเล ยาวนานกว่านั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนถึงชาวเลภูเก็ตและชายฝั่งอุษาคเนย์ ว่ามีความเป็นมายาวนานร่วม 2,000 ปี และมีการติดต่อกับคนบนฝั่ง ซึ่งเกิดนครรัฐขึ้นมากมายในช่วงเวลาอันยาวนานนี้


เหตุแห่งการร่อนเร่ของชาวเลมีเรื่องเล่าแตกต่างออกไป ตามกลุ่มที่แบ่งตามความแตกต่าง ของภาษาและวัฒนธรรม เป็น 3 กลุ่มคือ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย


กลุ่มแรก คือ ชาวมอแกน เล่าว่าชื่อของพวกเขามาจาก ชื่อของ แกน ซึ่งเป็นน้องสาวของราชินีซีเปียน แกนแย่งคนนักของพี่สาว จึงถูกสาปให้ต้องเร่ร่อนอยู่ในทะเล


ส่วนกลุ่มสอง ชาวมอแกลน มีเรื่องเล่าว่า บรรพบุรุษของพวกเขาหนีจากฝั่งอ่าวไทย เพราะถูกจับเป็นทาสแรงงาน ที่นครศรีธรรมราช โดยมี “พ่อตาสามพัน” เป็นผู้นำการอพยพ

ปุจจุบันนี้ ชาวมอแกลนยังคงสักการะศาลพ่อตาสามพัน ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบางสัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา


สุดท้ายกลุ่มอุรักลาโว้ย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะลันตา มีเรื่องเล่าถึงการหนีภัยโจรสลัด ทำให้แตกกระจัดกระจาย แยกย้ายไปตามเกาะต่างๆ


แต่ชาวอุรักลาโว้ยเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว วิญญาณบรรพบุรุษจะนำพากลับสู่ถิ่นฐานเดิม คือเทือกเขาศักดิสิทธิ์ ฆูนุงฌึรัย ในไทรบุรี อันเป็นถิ่นฐานเดิม บนคาบสมุทรมลายู


ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนั้น ชาวเลจึงใช้ชีวิตเร่ร่อน และเป็นชนกลุ่มแรกๆ ที่สำรวจและได้พบเห็น ความอุดมสมบูรณ์ของสรรพชีวิตบนบกและในทะเล ของชายฝั่งอันดามัน


การร่อนเร่ของชาวเล ไม่ได้เป็นไปโดยไร้จุดหมาย แต่เป็นการเดินทางหมุนเวียนไปตามเกาะ และชายฝั่ง โดยมีเกาะแม่ของแต่ละกลุ่มเป็นฐาน เช่น ชาวอุรักลาโว้ย มีฐานที่เกาะลันตา


ทุกปีชาวเลจะพากันแล่นเรือหมุนเวียนไปตามเกาะ ที่คุ้นเคย เพื่อทำมาหากิน แวะพัก หรือเยี่ยมญาติ ขึ้นกับลมมรสุม ลมประจำถิ่น และความสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร


ก่อนออกทะเล ชาวเลจะดูสภาพทะเล โดยดูจากแรงและทิศทางลมที่พัด ว่าเหมาะกับการออกเรือ หรือไม่ พร้อมกับดูดวงดาวกำหนดทิศแล่นเรือ

เป็นที่มาของคำกล่าวว่า เรือชาวเลไม่เคยล่ม อ่านน้ำจำลม อ่านฟ้าจำดาว


ชีวิตชาวเลในแต่ละปี อาจแบ่งได้คร่าวๆ เป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ


ช่วงแรก คือช่วงเวลาของทะเล ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือมรสุมฤดูแล้ง ทะเลเรียบ คลื่นลมน้อย ชาวเลจะออกเรือใหญ่ที่เป็นบ้านในตัว แล่นไปตามท้องทะเล เพื่อจับปลา งมหอย หาของมีค่าเช่น หอยมุก ไว้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าบนฝั่ง เมื่อยามแวะมาเอาน้ำจืด ซักผ้า อาบน้ำ ข้าวคือสินค้าที่เป็นที่ต้องการ เพื่อเก็บไว้กินในหน้าสรสุมที่ไม่สามารถออกเรือได้


ครั้นถึงหน้ามรสุม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดพาฝนเข้ามาพร้อมกับคลื่นลมแรง ชาวเลจะนำเรือใหญ่ หลบเข้าชายฝั่ง


เป็นช่วงเวลาของป่า ที่กำลังอุดมสมบูรณ์ด้วย หน่อไม้ หัวกลอย หัวมัน พืชพากันแตกยอด เช่นเดียวกับเห็ดต่างๆ ในช่วงนี้ชาวเลจะปลูกเพิงพักเล็กๆ ขึ้น และใช้เรือเล็กเลาะหาปลาแถบชายฝั่ง


เป็นเวลาหลายร้อยปี ที่ชีวิตของชาวเลดำเนินไปในรูปแบบนี้ เมื่อที่ใดเริ่มมีคนหนาแน่นขึ้น ชาวเลก็จะโยกย้ายไปยังที่รกร้างห่างไกลผู้คน


ชาวเลบางส่วนเริ่มลงหลักปักฐาน เป็นชุมชน บางส่วนมีการทำนาข้าว


เริ่มจากชาวมอแกลน ที่หลายชุมชนตั้งมานานมากกว่าร้อยปี


ตามด้วยอุรักลาโว้ย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะลันตา


สุดท้ายชาวมอแกน ซึ่งเพิ่งเริ่มตั้งหลักแหล่ง เมื่อประมาณทศวรรษ 2530-40





จากการสำรวจ ประชากรชาวเล เมื่อปี 2563 พบว่า ชาวเลในประเทศไทยมีจำนวนราว 12,000 คน กระจายตัวตามชายฝั่งและหมู่เกาะ


ด้านบนสุด เป็นชาวมอแกนมีอยู่ประมาณ 1,000 คน อาศัยอยู่ บริเวณจังหวัดระนองและพังงา


ถัดมาเป็น กลุ่มมอแกลนจำนวนราว 4,000 คน อยู่ในเขต อ.คุระบุรี อ.ตะกั่วป่า และ อ.ท้ายเหมือง ใน จ.พังงา


ด้านล่างสุด จาก ภูเก็ต กระบี่ ลงไปถึง สตูล เป็นกลุ่มอูรักลาโว้ย ซึ่งมีอยู่ราว 7,000 คน




แม้เมื่อตั้งถิ่นฐาน ชาวเลก็ยังชอบปลูกบ้านอยู่ในน้ำ หรือริมหาด เพื่อช่วงน้ำขึ้น สามารถผูกเรือกับเสาบ้าน เดินลงเรือได้จากบ้าน ตกปลา แทงปลาจากระเบียงบ้าน


ด้วยวิถีชีวิตที่ขึ้นกับธรรมชาติ ชาวเลได้สร้างสมความรู้ที่ถ่ายทอดกันมายาวนาน สร้างสมเป็นภูมิปัญญาของเผ่าพันธุ์


ชาวเลดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพิงทรัพยากรในทะเลและชายฝั่ง โดยไม่ครอบครอง


เมื่อตายลงก็จะฝังร่างบนพื้นทราย เพื่อที่จะได้นอนฟังเสียงคลื่น เหมือนเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่



แต่เมื่อยุคสมัยการท่องเที่ยวมาถึง ชาวพื้นเมืองผู้เข้ามาในดินแดนแห่งนี้ก่อนใคร กลับพบว่าไม่มีผืนดินให้อาศัย ไม่มีทะเลให้ทำกิน แม้แต่ที่พักผ่อนสุดท้ายอันสงบของบรรพบุรุษ ก็ถูกบุกรุกช่วงชิง โดยคนภายนอก


ท้องทะเลที่เคยเดินทางและทำกินได้อย่างอิสระ บางส่วนกลายเป็นเขตอนุรักษ์

อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลลดน้อยลง จากการทำประมงแบบเข้มข้น ของการประมงขนาดใหญ่


ในขณะที่ชาวเลส่วนใหญ่ยังคงใช้อุปกรณ์ที่ไม่ต่างอดีตมากนัก และต้องออกเรือไปไกลจากฝั่งมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

ที่ดินชายฝั่งและหมู่เกาะ ส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยเอกชน หรือประกาศเป็นพื้นที่สงวนของรัฐ ไม่ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ส่งผลให้พื้นที่จอดเรือ ปลูกเพิงพัก ตั้งหมู่บ้าน ประกอบพิธีกรรม และทำกิน ลดลงอย่างมาก


แม้จะอยู่มาก่อนใคร แต่ชาวเลไม่มีวิธีคิดเรื่องจับจองที่ดินเป็นของตนเอง ด้วยความเชื่อว่า ทะเล ผืนดิน และป่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของ หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือเป็นของทุกคน


อีกทั้งก่อนหน้านี้ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มนี้ ไร้ตัวตนในทางกฎหมาย ไม่มีสัญชาติ และบัตรประชาชน ถูกกีดกันออกจากการใช้และเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่สิทธิในการครอบครองที่ดิน


หลังเหตุการสึนามิ ในขณะที่เรื่องเล่าเกี่ยวกับภูมิปัญญาของชาวเลจางหายไป ชาวเลในหลายพื้นที่เผชิญกับคลื่นลูกใหม่

บ้านเรือนชาวเลแถบชายฝั่งพังเสียหาย กลายเป็นโอกาสอันดี ของผลักดันชาวเลออกจากบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นเขตท่องเที่ยว หลายชุมชนถูกเอกชนอ้างสิทธิเหนือที่ดิน นำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ พื้นที่สุสานและพื้นที่พิธีกรรม กำลังถูกคุกคาม ไม่น้อยกว่า 15 แห่ง


ชาวเลต้องถอยร่นจากบริเวณชายฝั่ง ไปยังพื้นที่จัดสรรที่อยู่ห่างออกไป การต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวเล ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง


ในปี พ.ศ.2553 นโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลเริ่มต้นขึ้น อาทิ การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย โดยการจัดทำโฉนดชุมชน เพื่อเป็นเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาวเล


การอนุญาตให้ทำประมงโดยใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมในพื้นที่อุทยานและเขตอนุรักษ์อื่นๆ การกันพื้นที่ให้สำหรับจอดเรือซ่อมเรือและเส้นทางเข้าออก เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ นโยบายหลายอย่างยังไม่บรรลุเป้าหมาย และบางกรณีมีความขัดแย้งกับนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจ


ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวเล กับรัฐและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะ


ชาวเลค่อยๆ แปรเปลี่ยนวิถีชีวิต หันไปยึดอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ต้องอาศัยทักษะทางทะเล ความเชี่ยวชาญที่สืบทอดกันมา ทั้งว่ายน้ำ ดำน้ำ การเดินเรือ สูญหายไปกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตประจำวัน และทะเลที่ขาดความอุดม

การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ชีวิตของชาวเลในปัจจุบันยากลำบากขึ้น


แต่ยังหมายถึง ความรู้และภูมิปัญญาเกี่ยวกับป่าและทะเล ที่สะสมมานับร้อยหรือพันปีที่จะหมดสิ้นไป


ความสูญเสียนี้สัมพันธ์กับเราทุกคน เพราะหมายถึงการสูญเสียความรู้และทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดำรงอยู่มาช้านานของภูมินิเวศน์ชายฝั่งอันดามัน



 

480 views0 comments

Comments


bottom of page