top of page
Writer's pictureclassyuth

เท้าบัวทอง น้ำตา และเกียรติภูมิ


แม้จะเคยรับรู้และอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการรัดเท้าของผู้หญิงจีนมาก่อน แต่นั่นต่างกันมากกับความรู้สึกเมื่อได้เห็นรองเท้าดอกบัวขนาดจิ๋วที่ พิพิธภัณฑ์เปอรานากัน ปีนัง (Pinang Peranakan Mansion) ความเล็กของรองเท้า ทำให้เกิดคำถามในใจว่า ผู้หญิงจีนนับล้านคนต่อสู้กับกายภาพธรรมชาติมานับร้อยๆ ปี ด้วยความรู้สึกอย่างไร ภายใต้เหตุผลของการกระทำที่สรุปสั้นๆ ได้ว่า  “เพื่อให้มีคู่ครอง” 



เท้าของสตรีในภาพถ่ายนี้มีขนาดเล็กกว่าเท้าเด็กเสียอีก (ภาพถ่ายจากภาพในพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน ปีนัง)


สำนวนจีน “小脚一双眼泪一缸 (เสียวเจี่ยวอี้ซวง เหยี่ยนเล่ยอี้กัง)” แปลความได้ว่า “เท้าน้อยๆ คู่หนึ่งหมายถึงน้ำตาเต็มตุ่ม” หากการรัดเท้าคือความขมขื่น มีสิ่งใดรั้งให้ต้องใช้เวลาหลายร้อยปี ในการปลดปล่อยผู้หญิงจีนจากพันธนาการนี้

 

ยายของฉันซึ่งเป็นลูกครึ่งจีนเกิดและเติบโตในชุมชนจีน เล่าว่า ในตลาดใหญ่มีผู้หญิงจีนรัดเท้าอยู่สองคน ทั้งสองอพยพมาจากเมืองจีนและพูดภาษาไทยไม่ได้ เด็กๆ เรียกกันว่า “ป้าจีนตีนตุก” หมายถึง “ป้าจีนเท้าเล็ก” และยายจำได้ว่า ป้าคนหนึ่งขึ้นลงบันไดบ้าน โดยใช้วิธีนั่งถัดขึ้นลงทีละขั้น

 

เวลานั้นยายเรียนชั้นมัธยม ตกอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2490-95 หรือราวคริสต์ทศวรรษ 1950 นับเป็นเวลาร่วมสามร้อยปี หลังจากจักรพรรดิคังซี แห่งราชวงศ์ชิงประกาศให้เลิกรัดเท้าในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และสาวชาววังเชื้อสายแมนจูใช้เกี๊ยะส้นสูงสร้างเสน่ห์จากการเดินแบบส่ายไปมาแบบผู้หญิงรัดเท้า แต่จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 การรัดเท้ายังคงอยู่ในกลุ่มผู้หญิงจีนเชื้อสายฮั่น


ขนาดของรองเท้าดอกบัวในพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน เทียบกับนิ้วมือ



  “เท้าป้าเขาเล็กมาก ตรงปลายมีแต่หัวแม่เท้า ส่วนนิ้วอื่นๆ พับลงข้างล่าง” ยายเล่าถึงครั้งหนึ่งที่ตามเพื่อนไปบ้านของหนึ่งในป้ารัดเท้า และได้เห็นป้าแกะผ้าพันเท้าออกล้าง อาจจะด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้ผ้านั้นมีกลิ่นแรงมาก

 

แม้จะฟังดูไม่น่ารื่นรมย์ แต่รองเท้าจิ๋วๆ ที่ได้รับการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เป็นเครื่องยืนยันถึงเส้นทางในประวัติศาสตร์ของผู้หญิงจีน  และความประณีตวิจิตรของรองเท้ายืนยันถึงคุณค่าที่ให้กับเท้าดอกบัว

 

หากดูเผินๆ ก็จะคิดว่ารองเท้าสวยงามน่ารักนี้เป็นรองเท้าเด็ก ซึ่งในแง่หนึ่งเท้าดอกบัวก็คือความ

พยายามที่จะรักษาขนาดเท้าของผู้หญิงให้เท่ากับเด็ก กระบวนการรัดเท้าจึงเริ่มต้นตั้งแต่เด็กผู้หญิงอายุ 5-6 ขวบ โดยมีเป้าหมายคือ "三寸金莲 (ซานชุ่นจินเหลียน)” หรือ “บัวทองสามนิ้ว" [1]อันเป็นอุดมคติความงามที่ไม่อาจเป็นจริงตามธรรมชาติ

 

ดังนั้นเพื่อให้เท้าเรียวและเล็ก ปลายเท้าจึงเหลือไว้เพียงนิ้วโป้ง ส่วนนิ้วเท้าที่เหลือทั้งสี่ถูกพับลงไปชนกับส้นเท้าที่พับลงมาเช่นกัน  จากนั้นใช้ผ้าพันผืนยาวรัดแน่นจนเป็นรูปสามเหลี่ยม และต้องรัดผ้าให้แน่นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เท้ามีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

 

เมื่อเริ่มรัดเท้าใหม่ๆ เด็กจะถูกบังคับให้เดินไกลๆ เพื่อเร่งให้ส่วนโค้งที่พับเข้ามาหักลง ใช้เวลาประมาณ 2-4 ปี กระบวนการสร้างดอกบัวทองจึงเสร็จสมบูรณ์ และผู้หญิงรัดเท้าต้องเดินบนนิ้วเท้าของตัวเองแทนฝ่าเท้า



สภาพของเท้าที่ถูกหักรัดไว้

ภาพโดย For. Arfo - Feet of a Chinese woman, showing the effect of foot-binding. Photograph, 19--.], CC BY 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=97631463


หากในระหว่างนั้นเกิดการติดเชื้อจนเนื้อบางส่วนเน่า นั่นก็ถือว่าดีเหมือนกันเพราะการตัดแต่งเนื้อเน่าทิ้งช่วยลดขนาดเท้าลงอีก แม้ว่าการติดเชื้อหลายกรณีทำให้เสียชีวิต แต่การมีเท้าเล็กตามอุดมคติความงามช่วยให้มีโอกาสได้แต่งงานดีๆ บรรดาแม่ๆ จึงมุ่งมั่นรัดเท้าลูกสาวเพื่ออนาคตที่ดี

 

พ่อของยายซึ่งเป็นชาวจีนแคะเล่าเรื่องการรัดเท้าให้ลูกๆ ฟังว่า สมัยจีนโบราณมีนางสนมที่เป็นจิ้งจอกแปลง สามารถแปลงกายส่วนอื่นเป็นมนุษย์ได้ทั้งหมดยกเว้นเท้า ต้องใช้ผ้ารัดปกปิดไว้ และบังคับให้คนอื่นๆ รัดเท้าตาม ชาวจีนแคะอาจนิยมเรื่องเล่านี้ เนื่องด้วยเป็นชนกลุ่มน้อยต้องทำงานหนัก จึงไม่รัดเท้าเด็กผู้หญิง เพราะไม่สะดวกต่อการทำงาน

 

ด้วยเหตุที่แผ่นดินจีนนั้นกว้างใหญ่และหลากหลายกลุ่มภาษา ยากจะระบุชัดเจนว่าการรัดเท้าเริ่มต้นขึ้นที่ไหน เมื่อไร เรื่องเล่าถึงที่มาของประเพณีรัดเท้ามีมากมายหลายเรื่อง และมีภาพวาดแสดงเท้าขนาดเล็กของสตรีที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์หลายคน รวมถึงนางไซซีหนึ่งในสี่สุดยอดสาวงามของจีน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในราว 500 ก่อนคริสตกาล แสดงให้เห็นว่าค่านิยมนี้มีมาช้านาน  ทั้งกล่าวกันว่า เท้าขนาดเล็กเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ใช้คัดเลือกนางในราชสำนักของ จิ๋นซีฮ่องเต้ (260-210  ก่อนศริสตกาล)

 

ตามบันทึกประวัติศาสตร์จีน มีการกล่าวถึงการรัดเท้าในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) หรือราวพันกว่าปีก่อน แสดงให้เห็นว่า การรัดเท้าน่าจะเริ่มขึ้นจากกลุ่มนางรำในราชสำนักที่ใช้การรัดเท้าเสริมให้การเคลื่อนไหวดูอ่อนช้อย ต่อมาความนิยมแพร่ออกไปในหมู่สตรีชั้นสูง เพื่อให้การเคลื่อนไหวแช่มช้า มีเสน่ห์

 

การรัดเท้าแพร่หลายออกสู่ทุกชนชั้นในช่วงศตวรรษที่ 12 สมัยราชวงศ์ซ่ง จากหลักฐานบันทึกประวัติศาสตร์และการค้นพบรองเท้าจิ๋วทั้งในสุสานของตระกูลสำคัญและหลุมศพบุคคลนิรนาม ทั้งนี้ราชวงศ์ซ่งเป็นยุคเริ่มต้นของลัทธิขงจื๊อใหม่ ที่เติบโตพร้อมการพิธีการคัดเลือกคนเข้ารับราชการ โดยการสอบความรู้ ที่เรียกกันว่า “สอบจอหงวน” แทนการการสืบทอดตำแหน่งขุนนางและสถานทางสังคมโดยสายเลือด อันเป็นจุดเริ่มต้นของการยกย่องภูมิปัญญาและคุณธรรมเหนือกำลังอำนาจ

 

ลัทธิขงจื๊อใหม่ไม่ได้ระบุถึงการรัดเท้า ทว่าแยกโลกของผู้หญิงและผู้ชายออกจากกัน และวางกรอบของผู้หญิง โดยให้ความสำคัญกับ ความบริสุทธิ์ การเชื่อฟัง และความขยันหมั่นเพียร เน้นบทบาทของผู้หญิงในฐานะภรรยาและแม่ มีหน้าที่ในการให้กำเนิดลูกชายสืบสกุล ภายใต้เป้าหมายนี้ การรัดเท้าไม่เพียงแสดงความเป็นหญิงและนำไปสู่การแต่งงานได้เป็นภรรยาและแม่ ยังแสดงถึงความบริสุทธิ์ เนื่องจากการมีเท้าขนาดเล็กและเดินไม่ถนัด ทำให้ผู้หญิงรัดเท้าต้องอยู่กับบ้าน อีกทั้งการรัดเท้ายังบ่งบอกถึงการเชื่อฟังและขยันหมั่นเพียร  

 

ในขณะที่ผู้ชายใฝ่หาความรู้เพื่อให้ได้เป็นบัณฑิต ผู้หญิงประกาศเกียรติภูมิของตนเองผ่านการมัดเท้าให้แน่นขึ้น ส่วนคนที่ยอมแพ้ต่อการเปลี่ยนแปลงรูปเท้าตัวเอง ถือได้ว่าไม่มีความมุ่งมั่นมากพอ และแน่นอนว่าย่อมมีอนาคตอับเฉารออยู่ และเมื่อการรัดเท้าต้องเริ่มขึ้นตั้งแต่เยาว์วัย มารดาจึงเป็นผู้วางกรอบอุดมคตินี้ให้ลูกสาว 

 

ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานจากกระบวนการมัดเท้าและเท้าขนาดเล็ก จึงเป็นเครื่องแสดงให้เห็นความแน่วแน่ของผู้หญิงผ่านการดัดแปลงร่างกาย ตามค่านิยมที่ว่า “ผู้หญิงต้องมีเท้าเล็กบอบบาง โค้งเรียว นุ่ม หอม และสองข้างต้องเท่ากัน”  โดยมีการกำหนดขนาด คือ ขนาดสามนิ้วเรียกว่า “ดอกบัวทอง” ขนาดมากกว่าสามแต่ไม่เกินสี่นิ้ว คือ ”ดอกบัวเงิน” ส่วนขนาดใหญ่ว่าสี่นิ้วเรียกว่า “ดอกบัวเหล็ก” 

 

อุดมคติที่สูงส่งเช่นนี้จะบรรลุได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงต้องทุ่มเทศักยภาพทั้งหมดในดัดแปลงธรรมชาติการขยายของเท้าและดูแลอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ใช้พลังทั้งหมดเพื่อสร้างคุณค่าในตัวเอง จากความสมบูรณ์แบบของเท้า

 

การรัดเท้ายังมีความหมายซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อชนเผ่ามองโกลเข้ายึดครองอาณาจักรฮั่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-14  การรัดเท้าแสดงความแตกต่างของชาติพันธุ์และความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมของชาวฮั่น เท้าเล็กๆ ในรองเท้าปักงดงามแสดงความเป็นอารยะ เหนือเท้าใหญ่ๆ ของชนเผ่าป่าเถื่อนนอกด่าน เช่นเดียวกับที่เท้าดอกบัวทองก็ยืนหยัดถึงความเหนือกว่าอีกครั้ง เมื่อชาวแมนจูสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นบนแผ่นดินฮั่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17



ผู้หญิงแมนจูใช้รองเท้าเกี๊ยะส้นสูง สร้างการเดินเลียนแบบผู้หญิงรัดเท้า

ภาพโดย  Daderot - Own work, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=48765807

 


ในขณะที่ผู้ชายชาวฮั่นถูกบังคับให้เลือกระหว่าง "ไว้ผมไม่ไว้หัว ไว้หัวไม่ไว้ผม (留头不留发,留发不留头  หลิวโถวปู้หลิวฟา หลิวฟาปู้หลิวโถว” ต้องยอมโกนผมด้านหน้าและไว้เปียแทนการไว้ผมมวย แต่ภายในบ้านผู้หญิงฮั่นยังคงรัดเท้า แม้ราชสำนักแมนจูพยายามออกคำสั่งหลายครั้งให้ยุติประเพณีนี้ เท้าเล็กๆ จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมต่อชาวแมนจูที่มีอำนาจทางทหารและการเมือง



รองเท้าดอกบัวหลายรูปแบบ ในพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน ปันัง


ภายใต้มุมมองนี้ ในห้วงเวลายาวนานที่การรัดเท้าสืบเนื่องมาร่วม 800 ปี นับจากราชวงศ์ซ่งถึงราชวงศ์ชิง มีเท้านับล้านคู่และผู้หญิงนับล้านคนถูกพันธนาการอยู่ในกรอบประเพณี การรัดเท้าจึงไม่ได้มีความหมายแค่สร้างความพึงพอใจให้ผู้ชาย ความสำเร็จในการรัดเท้าเหมือนถ้วยรางวัลที่ผู้หญิงมอบให้กับตัวเอง  อีกทั้งยังเป็นผู้สร้างเท้าล้ำค่าอันเป็นเครื่องยืนยันถึงความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมของชาวฮั่น

 

บางทีความรู้สึกเหล่านี้เองที่แม่ใช้เยียวยาความทุกข์ทรมานใจยามรัดเท้าลูกสาว ขณะที่เด็กผู้หญิงต้องหลั่งน้ำตาและกล้าหาญ และอาจจะเป็นความยึดมั่นต่ออุดมคตินี้ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป ที่เริ่มขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่19 เมื่อราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้ต่อชาติตะวันตก แม้การยกเลิกประเพณีรัดเท้าเป็นหัวหอกสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่กลับต้องใช้เวลาหลายสิบปีต่อมาในการปลดปล่อยพันธนาการนี้

 

ค่านิยมเท้าดอกบัวจืดจางลง พร้อมกับการศึกษาในยุคใหม่ ที่เปิดให้ผู้หญิงจีนได้ใช้ศักยภาพในการค้นหาคุณค่าในตัวเอง หวนกลับไปสืบทอดเส้นทางประวัติศาสตร์ครั้งที่ชายหญิงไม่ได้ถูกแยกจากกัน ดังเช่นสตรียุคราชวงศ์ถังที่ไม่ได้มีเพียงนางรำแต่มีทั้ง จักรพรรดินี นักรบ รวมถึงกวี และผู้หญิงแตกฉานในการอ่านเขียนไม่น้อยกว่าผู้ชาย

 

ในปี  1999 หนึ่งปีก่อนขึ้นศตวรรษที่ 21 โรงงานผลิตรองเท้าดอกบัวแห่งสุดท้ายปิดตัวลง นับเป็นเรื่องย้อนแย้งยิ่ง ที่นับจากศตวรรษที่ 20 โลกภายนอกใต้กระแสนิยมตะวันตกและความทันสมัย กลับตัดสินว่า เท้าบัวทองและรองเท้าดอกบัวอันงดงามประณีต เป็นการกดขี่ผู้หญิง และความทรงจำต่อประเพณีการรัดเท้าเหลือเพียงสิ่งแสดงถึงความล้าหลังของจีนในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

 

บางทีอาจเป็นเพราะเรามักจะหลงลืมบทเรียนเก่าๆ และพร้อมที่จะเข้าไปอยู่ใต้พันธนาการที่เรามองไม่เห็นในยุคของตนเอง ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หญิงตะวันตกในชุดคอเซ็ตรัดแน่นจึงพยายามปลดปล่อยหญิงจีนรัดเท้า และเราอัศจรรย์ใจกับขนาดเอว 17 นิ้วของผู้หญิงรุ่นคุณยาย ในขณะที่ยังคงมุ่งมั่นลดขนาดร่างกายของตนเองให้พอดีกับเสื้อไซส์ sss ที่อาจจะเล็กกว่าเสื้อเด็กเสียอีก

 

-----------------------------------------------------------------------

 

ข้อมูลอ้างอิง

Amanda Foreman. Why Footbinding Persisted in China for a Millennium. February,2015. อ้างอิง   ใน https://www.smithsonianmag.com/history/why-footbinding-persisted-china-millennium-180953971/

Yuan-Ling Chao. Poetry and Footbinding: Teaching Women and Gender Relations in Traditional China อ้างอิงใน https://worldhistoryconnected.press.uillinois.edu/6.2/chao.html[1] เท้าเรียวเล็กขนาดสามนิ้วจีน  (寸/ชุ่น) โดย 1 ชุ่น เท่ากับ 1.312 นิ้ว   

42 views0 comments

Komentáře


bottom of page