top of page
Writer's pictureclassyuth

แลนด์บริดจ์ กับเศรษฐกิจชุมชน

Updated: Jan 19




แผนที่อ่าวอ่าง พท.ท่าเรือ กับ 3 ชุมชนติดท่าเรือ




ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันกับเศรษฐกิจชุมชนและระบบนิเวศ


จากภูมิประเทศจังหวัดระนองเป็นชายฝั่งทะเล   มี 56 เกาะตั้งอยู่ใน 10 ตำบล 3 อำเภอ  เกาะที่มีขนาดใหญ่พื้นที่มากกว่า 10 ตารางกิโลเมตร คือ เกาะทรายดำ เกาะช้าง และเกาะพยาม ประชากรราว 1 ใน 3 ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน รายได้จากการประมงและการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ


ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศชายฝั่งอันดามัน จึงมีผู้ร่วมใช้ประโยชน์มากมายทั้งชาวบ้านและธุรกิจประมง และการท่องเที่ยวที่ขยายตัว   เมื่อเกิดโครงการเมกกะโปรเจกแลนด์บริดจ์ที่ออกแบบให้ใช้พื้นที่มากพิเศษโดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึก ที่จะส่งผลต่อระบบนิเวศ และการกำหนดเขตรัศมีเพื่อรองรับการเดินเรือสินค้าขนาดยักษ์ให้เข้าออก   ห้ามเรืออื่นเข้ามาในพื้นที่ซึ่งส่งผลสะเทือนต่อชุมชนที่ทำมาหากินที่ล้วนเป็นผู้ที่ไม่เคยถูกเอ่ยถึงตรงๆและไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการของรัฐ    


แน่นอนว่า มุมมองของผู้ถูกรอนสิทธิ์ในกิจกรรมเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตโดยตรง ย่อมแตกต่างจาก มุมมองของผู้จัดทำป้ายสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ของนักการเมือง พ่อค้านักธุรกิจในเมืองระนองที่ตั้งเด่นริมถนนเพชรเกษม และสามารถยื่นข้อเสนอต่อการประชุม ครม.สัญจรที่ระนองในวันที่ 23 มกราคม นี้ 



ภาพจากเอกสารการประชุมกลุ่มย่อย ของสนข. https://www.landbridgethai.com/wp-content/uploads/2022/  


เฉพาะพื้นที่เพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่อ่าวอ่างและการถมทะเลไม่น้อยกว่า 7,000 ไร่ ( เกือบ 12 ตารางกิโลเมตร หรือราวครึ่งเกาะพยาม) เฉพาะหน้าอ่าวอ่าง  (ยังไม่รวมเส้นทางที่ตัดจากถนนเพชรเกษมที่จะต้องสร้างถนนและทางรถไฟผ่านคลองที่เชื่อมต่อทะเลเข้าสู่ท่าเรือที่ชาวบ้านคาดว่าจะเข้ามาทางชุมชนช้างแหก)   


สมมติถ้ายืนจากหน้าท่าเรือที่ที่ยื่นไปจากหาดอ่าวอ่าง   ทางซ้ายมือ คือ  อ่าวเคยในพื้นที่ ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์    ฝั่งตรงข้ามท่าเรือน้ำลึก คือ เกาะพยาม แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ   ส่วนด้านขวาของท่าเรือ คือ ชุมชนเกาะหาดทรายดำ ดังนั้นในพื้นที่พัฒนาท่าเรือน้ำลึก เป็นพื้นที่วิถีชีวิตของหลากหลายชุมชนและผู้คนทั้งชุมชนป่าชายเลน, ชายฝั่งทะเลและชุมชนบนเกาะ อย่างไรก็ตามอนาคตของระบบเศรษฐกิจของชุมชน  ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจากรัฐและขาดการมีส่วนร่วมจากผู้รับผลกระทบโดยตรง  ขณะที่กระบวนการเก็งกำไรกว้านซื้อที่ดินได้เกิดขึ้นแล้ว  2-3 ปี ก่อนหน้า  


เนื้อหาจากบทสำรวจนี้คือ การเก็บข้อมูลและมุมมองจากสามชุมชนที่อยู่ติดท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน ซึ่งพบว่าพวกเขามีความวิตกกังวลต่ออนาคต ทั้งในส่วนของเศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่จะเปลี่ยนไป


เกาะพยาม: มัลดีฟในแลนด์บริดจ์


เกาะพยาม หรือ ฉายา มัลดีฟ เมืองไทยมีขนาดพื้นที่ 2.1 หมื่นไร่ มี 4 อ่าว คือ อ่าวแม่ม่าย  อ่าวใหญ่ อ่าวเขาควาย และอ่าวกวางปีบ พื้นที่ตอนกลางเป็นภูเขา 


ระบบเศรษฐกิจหลักเกาะพยามคือ การท่องเที่ยว รวมถึงการปลูกมะม่วงหิมพานต์ เพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยว ประมงชายฝั่งก็นำผลผลิตมาขายให้กับกิจการร้านอาหารที่ขายนักท่องเที่ยว ทั้งนี้เกาะพยามเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติชอบความสงบมาอยู่ระยะยาว ด้วยความสงบเงียบ และธรรมชาติ  


บนเกาะพยาม มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ๒ กลุ่มคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรเกาะพยาม มีกิจกรรมการชมสวนมะม่วงหิมพานต์ การเผาและเกาะเม็ดมะม่วงหินพานต์   และกลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเกาะพยามซึ่งเน้นกิจกรรมทางทะเล การลงทะเล ดำน้ำ  รูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนรวมการให้บริการที่พักนักท่องเที่ยว เพราะไม่ได้มีโรงแรมใหญ่ๆบนเกาะ  และที่พักบนเกาะร้อยละ 50 เป็นของคนในท้องถิ่น  เกาะพยามถูกระบุว่าอยู่ในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ แต่จากการลงพื้นที่คุยกับคนท้องถิ่น กลับพบว่ายังไม่ได้รับรู้ข้อมูลจากภาครัฐ รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบ

 

“ก่อนหน้านี้ คนเกาะพยามไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารใดๆจากรัฐเลย เรารู้ตอนเป็นข่าวว่าเขาประกาศจะทำโครงการแลนด์บริดจ์แล้ว”   อดิศักดิ์ ขาวผ่อง  อดีตประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรเกาะพยาม ที่ดำเนินมาราว 5ปี   รู้สึกห่วงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกาะพยาม โดยเฉพาะในระยะยาว จากการถมทะเลและการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ  ที่คาดคะเนในฐานะผู้ที่อาศัยที่เกาะพยามและพยายามหาข้อมูลและทำความเข้าใจโครงการ


            “ พื้นที่ชายฝั่ง อ่าวแม่ม่าย ตรงท่าเรือเกาะพยาม ซึ่งอยู่เยื้องอ่าวอ่างน่าจะหายหมด  ฝั่งท่าเรือเกาะพยามน่าจะหายหมดจากการกัดเซาะชายฝั่ง จากกระแสน้ำที่เปลี่ยน เพราะเขาจะถมทะเล 7,000 ไร่ เหมือนการสร้างเกาะขึ้นมาใหม่อีกเกาะ    โครงการเขาต้องการเรือสินค้าที่บรรทุกได้ 10,000 ตู้ ซึ่งเท่ากับรถบรรทุก 18 ล้อ 5,000 คัน   ต้องเกิดการขุดลอกทะเลให้มีร่องน้ำลึก เพื่อให้เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์วิ่งได้    ทรายก็จะไหลลงไปเรื่อย ”


         “ถ้าแลนด์บริดจ์มีเรือสินค้าเข้ามาจริง น่าจะเป็นผลดีในภาพรวมประเทศ แต่ต้องแลกกับธรรมชาติ ขนาดไหนไม่รู้ แต่เชื่อว่าเกาะพยาม -ระนอง- อ.พะโต๊ะ เสียหายแน่นอน    และถ้าสำเร็จมีเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาใช้ท่าเรือ  นิเวศเกาะสุรินทร์   เกาะสิมิลันก็จบด้วย เพราะเรือสินค้าวิ่ง ใบพัดเรือขนาดใหญ่ก็จะดึงตะกอนฟุ้งขึ้นมา” รวมทั้งความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุและปิโตรเลียม  แบบทะเลฝั่งชลบุรี ระยอง


         “ อย่างไรก็ตาม ผมไม่เชื่อว่านักธุรกิจจะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ เพราะต้องขนสินค้าขึ้นเรือ ยกขึ้นใส่รถไฟ ยกจากรถขนใส่ลงเรืออีก  เรื่องการกระจายสินค้าของโลกก็มีคำถามว่า มีเรือมาใช้หรือยัง และต้องสร้างสถานที่กระจายสินค้าอีก เรามีความรู้ มีบุคลากรหรือยัง ถ้าเทียบกับประเทศที่เขามีความชำนาญ มีความรู้ มีคนพร้อมด้านนี้   ตอนท่าเรือน้ำลึกระนองก็เคยโฆษณาอย่างนี้  แล้วมีใครแล่นเข้ามาใช้ท่าเรือบ้าง  ในเมื่อเส้นทางเดินเรือสมุทรหลักมันอยู่ด้านนอกโน่น”




ป่าชายเลนคลองลัดโนด


ชุมชนคลองลัดโนด ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ ช่วยดูแลป่าชายเลนและใช้ประโยชน์ด้านการประมง  ได้ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวโดยชุมชนต.ม่วงกลวงราว 5-6 ปี และได้รับรางวัลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 3 ปีซ้อน      


จากการลงพื้นที่ ในเขตพื้นที่ ต.ม่วงกลาง  ซึ่งมี 4 หมู่บ้าน  เมื่อเริ่มมีการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ในพื้นที่เกิดการกว้านซื้อที่ดิน เช่น พื้นที่บริเวณ เขาชาย ตรงหมู่ 1 ที่มีการเข้ามาซื้อที่รวบรวมที่ดิน และต่อมามีการล้อมรั้วปิดเส้นทางสัญจรตลอดจนมีการถมที่ล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าชายเลน และข้อสงสัยว่าโฉนดบาน คือ พื้นที่โฉนดมากกว่าความเป็นจริง  คนในพื้นที่มีการร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม จ.ระนอง แล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า


สำหรับ กิจกรรมท่องเที่ยว ล่องแพเปียกคลองลัดโนด เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เน้นการจัดการโดยชุมชน ที่ใช้วิถีชีวิตบนฐานทรัพยากรป่าชายเลนและชายหาดเป็นจุดขาย   มีกิจกรรมทั้งนั่งเรือชมระบบนิเวศป่าชายเลน ปลูกต้นโกงกาง กินอาหารซีฟู้ด ล่องแพเปียก เล่นน้ำทะเลแหวก ชมวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน การเลี้ยงปูนิ่ม การหาหอย หาปู หาปลา และหากุ้งเคย อีกทั้งยังมีซากเรือชาวโรฮิงยาอพยพที่ได้ทิ้งซากเรือไว้ในคลองลัดโนด  อาหารทะเลหาได้จากคลองลัดโนดที่รายล้อมด้วยป่าชายเลน ชาวบ้านจับแบบวันต่อวันจึงได้อาหารทะเลที่สดและมีคุณภาพ


“ ต่อไปเมื่อระนองเป็นเมืองอุตสาหกรรม คนก็ไม่อยากมาเที่ยว   ..ขณะที่เส้นทางการเดินทางจัดการท่องเที่ยวที่เคยพานักท่องเที่ยวไปเที่ยว 3 เกาะ คือ เกาะญี่ปุ่น เกาะกำ เกาะค้างคาวก็จะเดินทางไม่ได้”

นายปรีชา หัสจักร์  ประธานชุมชนการท่องเที่ยวโดยชุมชนคลองลัดโนด ต.ม่วงกลวง อ. จ.ระนอง ให้ความเห็น




 

 

ชุมชนเกาะหาดทรายดำ  ต.หงาว อ.เมือง จ.ระนอง 


ชุมชนบ้านหาดทรายดำตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง ซึ่งเป็นชายหาดเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีหาดทรายสีดำ พร้อมกับป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ ของ กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ 


ด้วยระบบทรัพยากรธรรมชาติที่มีทั้งเนินเขา ,ที่ราบเชิงเขาลงมาสู่ชายฝั่งน้ำทะเลท่วมถึง บริเวณหาดทรายและสันทรายเป็นสีดำจากเศษผงเนื้อไม้   เกาะหาดทรายดำ ประกอบด้วยป่า 3 ชนิด คือ  ป่าดิบชื้น ป่าชายหาดและป่าชายเลน บริเวณรอบเกาะเป็นแนวปะการังและหญ้าทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและเป็นแหล่งอาหารทะเลชั้นดีป้อนให้ธุรกิจการค้าและคนในเมืองระนองตลอดมา   


ขณะที่วิถีชีวิตเรียบง่ายของประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่มีนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ สัมผัสกิจกรรมการทำอาหารทะเลเค็ม การทำกระปิจากกุ้งเคย    มีผลผลิตทุเรียนสกา  และเส้นทางการท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปกลุ่มเกาะใกล้เคียง คือ เกาะวัวดำ เกาะไฟไหม้และเกาะสองพี่น้อง ซึ่งเป็นหาดชายหาดที่สวยงามและเป็นแหล่งดำน้ำชมปะการัง ส่งผลให้เป็นชุมชนที่มีการวิจัยเสนอแนวทางการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเกาะหาดทรายดำ ในมิติเศรษฐกิจพอเพียง


“มีความกังวลเรื่องการหากิน การประมงชายฝั่ง การหากินของชาวบ้านต้องเดือดร้อนแน่นอน เพราะ ถ้าเขาทำโครงการ ทะเลห่างจากเกาะหาดทรายดำ 50  เมตร ชาวบ้านก็เข้าไปทำประมงไม่ได้แล้ว   ตรงนี้มีความสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งหากินของคนจากหลายหมู่บ้าน ทั้งจาก นกงาง ,ราชกรูด และเกาะช้างด้วย ” โกจง แซ่ตั้ง อายุ 70 ปี  หมู่ 5 ชาวบ้านชุมชน เกาะหาดทรายดำ มีอาชีพซื้อและรวบรวมสัตว์น้ำจากชาวประมงพื้นบ้าน

 




 

Comments


bottom of page